วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ไกรสิทธิ์ วรรณกรรมประโลมโลก

ไกรสิทธิ์





วรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดชุมพร เรื่องไกรสิทธิ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในสมุดข่อยหรือที่ชาวภาคใต้เรียกว่า “หนังสือบุด” ไกรสิทธิ์เป็นวรรณกรรมประโลมโลก ประเภทจักรๆวงศ์ๆ แต่งโดยกวีท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมชาวบ้านที่นิยมอ่าน (ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า สวด) กันเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ให้ความรู้ทางด้านภาษาและวัฒนธรรมแต่ละสมัยที่เกิดวรรณกรรม และจะใช้สวดกันเฉพาะวันมงคลเท่านั้น กล่าวได้ว่า เมื่อมีงานมงคลก็มีการเตรียมงานก่อนถึงวันงานที่เรียกกันว่า “วันสุกดิบ” ซึ่งสิ่งสำคัญในวันสุกดิบคือ การสร้าง “โรงมัด” เพื่อใช้ประกอบอาหารสำหรับถวายพระและเลี้ยงแขกที่มาในงาน การตระเตรียมอาหารนั้นจะทำกันตั้งแต่ตอนหัวค่ำเรื่อยไปจนถึงสว่างของวันงาน ผู้ที่มาช่วยงานตอนกลางคืนในวันสุกดิบนั้น นอกจากจะเป็นชาวบ้านที่มาอาสาเป็นแม่ครัวแล้วนั้น ก็จะมีผู้มาช่วยงานในด้านอื่นๆ ที่ต้องตระเตรียมไว้ใช้ในวันงาน และอยู่เป็นเพื่อนบรรดาแม่ครัวทั้งหลาย และเพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินในการทำงานและจะได้ไม่ง่วงนอน จึงมีการเล่านิทานที่สนุกสนานแบบนิทานประโลมโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ที่นิยมฟังกันแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็จะมีบทแทรกคติสอนใจให้ผู้ฟังด้วย โดยใช้ตัวละครเป็นสื่อ เพราะเหตุนี้ทำให้วรรณกรรมประโลมโลกจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมานานในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรมาจนถึงปัจจุบันนี้
วรรณกรรมประเภทนิทานประโลมโลกของภาคใต้นั้น ที่ใช้ “สวด” (ท่องแบบทำนองแบบท่องจำ) โดยทั่วๆ ไป จะบอกจุดมุ่งหมายของเรื่องเอาไว้ว่า เพื่อให้คนอ่านหรือฟังในยามว่าง เรียกอีกอย่างว่า “หนังสือสวด” และจะมีผู้สวด (อ่าน) เพียงผู้เดียว คนอื่นจะเป็นผู้ฟัง ผู้สวดจะต้องมีความชำนาญในการสวด และสวดได้อย่างไพเราะ สนุกสนาน แต่ละหมู่บ้านจะมีอาชีพรับจ้างสวด ค่าจ้างแล้วแต่ตกลงกน แต่ส่วนมากมักจะช่วยเหลือกันและตอบแทนด้วยการเลี้ยงอาหาร หากใครสวดได้ไพเราะก็จะมีคนจ้างแทบทุกคืน เรื่องที่ใช้สวดก็เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ

หนังสือบุดหรือสมุดข่อย
คำว่า “บุด”ในภาษาถิ่นใต้ น่าจะมาจากคำว่า “สมุด” ในภาษาภาคกลาง โดยการตัดเสียงพยางค์หน้าตามลักษณะของการใช้คำในภาษาถิ่นใต้ คือคำว่า “สมุด” เป็น “มุด” แล้วกลายมาเป็น “บุด” ซึ่งหมายถึง สมุดที่ทำด้วยกระดาษข่อยหรือเถาต้นกฤษณา พับไปมาเป็นขั้นๆ กลับไปกลับมาในสมัยโบราณ เอกสารสำคญต่างๆ จะเขียนลงในสมุดข่อย หรือหนังสือบุดแทบเกือบทั้งหมด โดยสมุดข่อยหรือหนังสือบุดจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามชนิดของวัสดุที่ใช้ทำกระดาษ สมุดข่อยเล่มหนึ่งๆ ใช้บันทึกข้อความได้ทั้งสองหน้า เรียกหน้าแรกว่า “หน้าต้น” และเรียกหน้าหลังว่า “หน้าปลาย” ขนาดของสมุดที่ได้รับมาตรฐานมีอยู่หลายขนาด การเขียนบันทึกลงสมุดข่อยนั้น เนื่องจากแต่เดิมทางภาคใต้บันทึกด้วยอักษรขอม และเรื่องที่ใช้บันทึกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา หรือตำรายา อีกทั้งผู้บันทึกส่วนใหญ่จะเป็นพระภิกษุ สมุดข่อยนอกจากจะใช้บันทึกเรื่องราวดังกล่าวแล้ว ยังใช้บันทึกใบประกาศ แจ้งความ และเอกสารสำคัญๆ ของทางราชการอีกด้วย

ประวัติความเป็นมาของเรื่องไกรสิทธิ์
ไกรสิทธิ์ เป็นวรณกรรมจากหนังสือบุด ซึ่งถือว่าเป็นวรรณกรรมประโลมโลกของภาคใต้ จังหวัดชุมพร วรรณกรรมเรื่องไกรสิทธิ์ ฉบับที่นำมาวิเคราะห์ เป็นหนงสือบุดขาว เขียนด้วยหมึกสีดำ ขนาดของหนังสือมีความกว้าง ๑๑.๕ ซ.ม. ยาว ๓๕ ซ.ม. มีทั้งหมด ๔ เล่ม นับเป็น ๕ หัว (๕ ตอน) รวม ๖๗๐ หน้า แต่ละหน้ามี ๖ บรรทัด การเรียกชื่อแต่ละตอนเรียกว่า “มาดหัว” เนื้อเรื่องแต่ละตอนจะสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันไปเรื่อยๆ ตอนท้ายของเรื่องได้เขียนบอก วัน/เดือน/ปี ที่เขียนไว้

เนื้อเรื่องย่อ ไกรสิทธิ์
ณ เมืองมุขพิมานมีท้าวโกศานเป็นผู้ปกครอง มเหสีชื่อนางอินทร์สุริยา บุตรสามคนคือโกสินทร์ นรินทร์ และไกรสรสุริยา โกสินทร์และนรินทร์เป็นฝาแฝดชาย ถูกพลัดพรากจากเมืองไปอาศัยยู่กับฤๅษีตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งเติบโตได้ออกจากอาศรมฤๅษีกลับบ้านเมือง และฤๅษีได้มอบหญิงสาวให้กับโกสินทร์ ชื่อนางวิมาลา ฝ่ายนางไกรสรสุริยาเมื่อเติบโตเกิดโดนยักษ์กุมภัณฑ์ลักพาตัวนำไปเป็นเมีย โกสินทร์และนรินทร์ได้กลับมาถึงบ้านเมืองมุขพิมาน ท้าวโกศานได้ทำพิธีรับขวัญ ต้อนรับ ทำการยกเมืองให้โกสินทร์ครอบครอง ส่วนนางอินทร์สุริยาได้พบเห็นนางวิมาลาทุกวันจึงเกิดคิดถึงนางไกรสรสุริยา ทำให้โกสินทร์และนรินทร์อาสาไปตามหา ระหว่างที่เดินทางทั้งสองได้เจอเมืองร้าง พบกลองใบใหญ่มีเสียงร้องออกมาจากกลอง ฝ่ายนรินทร์จึงใช้อาวุธวิเศษฟันกลอง พบเจอกับหญิงสาว คือนางวรดี นางได้เล่าเรื่องราวของเมือง ว่ามีกบยักษ์มาอาละวาดกินคนจนหมดเมือง ทำให้โกสินทร์และนรินทร์ไปปราบกบยักษ์และทำการชุบชีวิตคนทั้งเมืองขึ้นมา เจ้าเมืองจึงยกเมืองและบุตรสาวให้กับนรินทร์ แต่นรินทร์ขอออกเดินทางไปตามหานางไกรสรสุริยาก่อน ไม่นานทั้งสองจึงเดินทางไปถึงเมืองยักษ์กุมภัณฑ์ เกิดการต่อสู้จนยักษ์กุมภัณฑ์เสียชีวิตและนางไกรสรสุริยากลับบ้านเมือง
ฝ่ายท้าวโกสินทร์กับนางวิมาลาได้มีโอรสชื่อ สินธุมาลา ส่วนนรินทร์กับวรดีมีธิดาชื่อ วรจันทร์ นางไกรสรสุริยาคลอดบุตรที่ได้ตั้งท้องกับยักษ์กุมภัณฑ์ โกสินทร์โกรธมาก และเกรงว่าจะมาแย่งชิงสมบัติ จึงกำจัดกุมารน้อย โดยให้นำพาไปลอยน้ำ ฝ่ายพระอินทร์ทราบเรื่องจึงเกิดความสงสาร โดยให้พระวิษณุแปลงร่างเป็นปลาว่ายน้ำนำไปปล่อยไว้ที่เกาะแก้ว ซึ่งเป็นที่พำนักของพญากระบี่ป่า เมื่อพญากระบี่ป่าพบเข้าจึงไปปรึกษากับพญากุมภีล์แล้วนำไปฝากฤๅษีนาคาเลี้ยงไว้ และได้ชื่อว่า ไกรสิทธิ์ เมื่อไกรสิทธิ์เติบโตได้ทราบเรื่องจากพญากระบี่ป่าจึงตัดสินใจออกตามหามารดา ฤๅษีนาคาและพระอินทร์ได้มอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กับไกรสิทธิ์มากมาย ฤๅษีนาคาได้บอกไกรสิทธิ์ว่าเนื้อคู่ชื่อ รัตนมานี เป็นธิดาเมืองยักษ์ มีอาซึ่งเป็นยักษ์ ๗ ตนคอยดูแล นางรัตนมานีพำนักอยู่ในปราสาทมีกำแพงใหญ่ล้อมรอบ ๗ ชั้น
ฝ่ายไกรสิทธิ์เดินทาง ๗ วัน ๗ คืน ก็มาถึงเมืองอินทปักโข ซึ่งเป็นเมืองของนางรัตนมานี ไกรสิทธิ์ลอบเข้าไปในปราสาทและได้นางรัตนมานีเป็นคู่ครอง ฝ่ายยักษ์ทราบเรื่องเกิดการต่อสู้กับไกรสิทธิ์เป็นเวลานาน จนในที่สุดไกรสิทธิ์ได้รับชัยชนะ ทั้งหมดได้ออกเดินทางต่อจนไปถึงเมืองของนรินทร์กับนางวรดี ขอเข้าเฝ้าและเล่าเรื่องราวของตนให้นรินทร์ฟังว่าตนเป็นหลาน ทำการเดินทางไปพบมารดากับแก้แค้นลุง นรินทร์ได้ขอร้องให้ไกรสิทธิ์ให้อภัย อย่าผูกพยาบาทจองเวรกัน และตนจะเขียนสาส์นถึงท้าวโกสินทร์ ให้ขอโทษไกรสิทธิ์และยกเมืองให้ หลังจากนี้ทั้งหมดได้ออกเดินทางไปยังเมืองมุขพิมาน ท้าวโกสินทร์ได้รับสาส์นเกิดความกลัวว่าไกรสิทธิ์จะมาแย่งสมบัติ จึงให้สินธุมาลาจัดทัพมาสู้รบกับไกรสิทธิ์ ฝ่ายไกรสิทธิ์ไม่ยอมทำสงครามจึงบอกให้สินธุมาลาไปบอกให้โกสินทร์ออกมาสู้รบ ท้าวโกสินทร์กลัวพ่ายแพ้ จึงเขียนสาส์นส่งไปให้นรินทร์ เมื่อนรินทร์ได้รับสาส์นจึงรีบเดินทางมาหย่าศึก และบอกให้โกสินทร์ยอมขอโทษไกรสิทธิ์ มอบเมืองคืนให้ไกรสิทธิ์ และขอให้ไกรสิทธิ์อโหสิกรรมให้ ในที่สุดทุกอย่างก็ลงเอยด้วยดี ไกรสิทธิ์ก็ได้พบกับมารดา และปกครองเมืองอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

แก่นของเรื่องไกรสิทธิ์
เรื่องไกรสิทธิ์ แบ่งแก่นของเรื่องได้ ๒ ประการ คือ แก่นเรื่องใหญ่ และแก่นเรื่องย่อย
๑. แก่นเรื่องใหญ่ เป็นแก่นกลางของเรื่อง คือ ต้องพลัดพรากจากกัน การเดินทางมาหากัน เรื่องจบลงเมื่อตัวละครทั้งหมดได้พบกันอีกครั้ง และเกิดการให้อภัยซึ่งกันและกัน
๒. แก่นเรื่องย่อย เป็นแก่นกลางของพฤติกรรม คือ การต่อสู้กันด้วยอิทธิฤทธิ์

ตัวละครในเรื่องไกรสิทธิ์
ลักษณะของตัวละครในเรื่องไกรสิทธิ์จะเป็นเหมือนมนุษย์ หรือเป็นมนุษย์ แต่ไม่ใช่บุคคลจริงๆ
๑. ไกรสิทธ์ ตัวเอกของเรื่อง เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มากมาย เพราะแม่เป็นคนพ่อเป็นยักษ์ เป็นผู้มีบารมี จะเห็นว่าในเรื่องจะมีเทวดาคุ้มครอง มีครูดี มีบริวารดี เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักให้อภัย อีกทั้งเป็นผู้มีรูปร่าง หน้าตาสง่างามตามแบบพระเอกในวรรณคดีไทย
๒. โกสินทร์ ต้องพลัดพรากจากเมืองตั้งแต่เล็ก แต่ด้วยบารมีจึงได้กลับมา แต่พอได้ครอบครองเมืองเกิดมัวเมาในอำนาจจึงสั่งฆ่าหลาน แต่สุดท้ายกลับใจสำนึกผิดยินยอมขอโทษและมอบบ้านเมืองคืนให้หลาน
๓. นรินทร์ เป็นแฝดโกสินทร์ แต่นิสัยตรงกันข้าม เป็นคนจิตใจโอบอ้อมอารี รักวงศ์ตระกูล และเป็นผู้ปรารถนาสันติ
๔. นางรัตนมานี เหมือนดังนางเอกทั่วไปในวรรณคดี คือสูงด้วยชาติตระกูล และพร้อมด้วยความงาม แต่จะไม่มีบทบาทความสามารถอย่างอื่น เป็นตัวกลางในการดำเนินเรื่อง
๕. ยักษ์ทั้งหลาย รักพี่น้อง มีความห่วงใยของที่ตนรัก

เอกลักษณ์ภูมิปัญญาทางด้านต่างๆ
๑.๑. ด้านการใช้ภาษา และลักษณะคำประพันธ์
๑.๑.๑. วรรณกรรมเรื่องไกรสิทธิ์ ใช้คำประพันธ์แบบเดียวกับวรรณกรรมของภาคใต้โดยทั่วไป คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ (ราบ) คำประพันธ์ที่ใช้มากที่สุด คือ กาพย์สุรางคนางค์ ลักษณะของคำประพันธ์ ค่อนข้างไม่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์มากนัก แต่ก็มุ่งเน้นเนื้อหา และความเข้าใจมากกว่า เนื้อหาสนุกสนานชวนให้ติดตามตลอดทั้งเรื่อง
๑.๑.๒. วรรณกรรมเรื่งไกรสิทธิ์ เป็นวรรณกรรมชาวบ้าน การเขียนบันทึกจะเป็นลักษณะการเล่าเรื่องแบบชาวบ้าน มุ่งเน้นความสนุกสนาน การใช้ภาษามีการใช้ภาษาท้องถิ่นใต้ และภาษาไทยภาคใต้แบบโบราณ (ขอมโบราณ มอญโบราณ อักษรทมิฬ) อีกด้วย
๑.๑.๓. มีการใช้คำบาลีสันสกฤต มีลักษณะเด่นเฉพาะของภาคใต้คือ นำคำบาลี สันสกฤตมาใช้ในรูปแบบคำแผลง โดยไม่คำนึงรูปศัพท์ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ จะมีจุดม่งหมายสำคัญคือเสียงสัมผัสเท่านั้น
๑.๒. ด้านความเชื่อ
๑.๒.๑ ความเชื่อทางด้านฤกษ์ยาม มีมาตั้งแต่สมัยโบราณสืบเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เป็นความเชื่อที่อาศัยการคำนวณทิศทางของดวงดาว โดยเชื่อว่าในเวลาที่จะทำการมงคล หรือจะออกเดินทางจึงมักนิยมดูฤกษ์ยามเสียก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล ให้ประสบโชคชัย ปราศจากภัย การดูฤกษ์เมื่อพิจารณาดูวัน เวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งของเครื่องประกอบการทั้งหลาย โดยถี่ถ้วนว่าไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง ไม่มี อะไรขัดข้อง มีสมบูรณ์ดีทุกประการ อย่างนี้แหละเรียกว่า “ ฤกษ์งามยามดี ” แต่ถ้าเห็นว่ามีอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่างยังไม่พร้อมเรียกว่า “ ฤกษ์ยังไม่งาม ยามยังไม่ดี ” หรือ “ ฤกษ์ไม่ดี ”
ดังเช่นในสมัยโบราณในเรื่องไกรสิทธิ์ตอนประกอบพิธีรับขวัญโกสินทร์และนรินทร์ได้กล่าวถึงความเชื่อด้านฤกษ์ยาม ไว้ว่า
บัดนั้นโหรเฒ่า กราบทูลท้าวสองรา
วันนี้ดีหนักหนา ให้ทำการงานพิชัย
สอบสวนต้นตำรา โหราตั้งเลขชัย
ฤกษ์ปีเมืองเป็นใด ชะตาเมืองขึ้นพารา
สอบสวนกันทั้งสี่ เกณฑ์ธรณีเกศตกดิน
ดีจริงยิ่งหนักหนา สิบห้าชั้นจะมีชัย
ครั้นแล้วสี่โหรเฒ่า กราบทูลท้าวผู้จอมไตร
ยามนี้ดี ท้าวไท ถ้าปลูกกลอยจะเป็นทอง
๑.๒.๒. ความเชื่อเกี่ยวกับความฝันและโชคลาง เป็นความเชื่อเกี่ยวข้องกับการคิดเชิงไสยศาสตร์ ที่ผู้ฝึกฝนเชื่อว่าอนาคตหรือผลลัพธ์ของเหตุการณ์บางอย่าง สามารถถูกดลบันดาลให้เป็นไปได้ด้วยพฤติกรรมที่กำหนด แนวคิดเกี่ยวกับ “โชคดี” และ “โชคร้าย” ก่อให้เกิดความเชื่อโชคลางมากมาย เช่น ความเชื่อที่ว่าถ้าจิ้งจกร้องทักก่อนเดินทางออกจากบ้านจะมีโชคร้าย เป็นต้น
ความเชื่อโชคลางนั้นจะไม่วางอยู่บนฐานของเหตุผล ความเชื่อเกิดจากความกลัว ที่แสดงออกในรูปของความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อในเหตุการณ์เหนือจริง การเชื่อในลางบอกเหตุ และการบอกเหตุล่วงหน้า ความเชื่อโชคลางยังถูกใช้เพื่อหมายถึงระบบความเชื่อพื้นบ้าน ในความหมายที่แตกต่างกับความเชื่ออื่นๆ เกี่ยวกับโลกทางวิญญาณของศาสนา เรื่องไกรสิทธิ์ตอนนางไกรสรสุริยาฝัน ก่อนที่ถูกยักษ์กุมภัณฑ์ลักพาตัวไป ได้กล่าวถึงความฝันซึ่งเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้า ว่า
บัดนั้นพังงา ไกรสรสุริยา ขวัญข้าวจึงฝัน
จักร้ายฤวดี มิรู้สำคัญ พระจันทร์นั้น พาเจ้าจากเมือง
บัดนั้นโหรา จึงหยิบตำรา จับยามเนืองเนือง
ขีดตารางลง ถามวันเดือนปี มารดาบุญเรือง คูณมาด้วยพลัน
ออกเศษหกห้า พลิกสิ้นทั้งนั้น อ่านโฉลกไปพลัน
ได้เมื่อจากเมือง ได้ที่นั่งพระลักษณ์ เมื่อต้องโมกขศักดิ์ ลำบากแค้นเคือง
สอบสวนค้นหา ชะตาบุญเรือง มิได้อยู่เมือง
จักจากที่ไป ดูในตรีดซ้ โหราคูณไป ตั้งเลขค้นหา
ตั้งสามยามลง บอกเขามินาน ดวงของนงคารญ
คนต่างภาษา ให้เกรงจงหนัก ผู้มาจะลัก คนต่างเขตมา
๑.๒.๓. ความเชื่อในเรื่องการบนบานศาลกล่าว แก้บนและผีสางเทวดา คือ การขอร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือในสิ่งที่ตนเองต้องการอยากจะได้ หรืออยากให้เป็นไป ถ้าท่านช่วยให้สำเร็จแล้วจะมาให้สิ่งตอบแทนตามที่เคยพูดไว้ คือ แก้บน มนุษย์เมื่อขาดความเชื่อมั่นตนเอง จึงต้องหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย อยากได้อะไร ก็ไปบนบานศาลกล่าว ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้สมหวัง เมื่อไปบนแล้วได้ตามประสงค์จึงจะไปแก้บน การติดสินบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสางเทวดา ถือเป็นพันธะสัญญาที่ต้องชดใช้ ในเรื่องไกรสิทธิ์เช่นกัน ตอนยายเฒ่ากาไชย บนบานศาลกล่าวได้กล่าวถึงการบนบานศาลกล่าว คือ ตอนที่ท้าวโกศานรับสั่งให้โหรเฒ่ามาทำนายฝันถึง ๒ ครั้ง คือ ตอนนางไกรสรสุริยาฝัน กับตอนนางอินทร์สุริยาฝัน แต่เนื่องจากเป็นรับสั่งที่เร่งด่วน เสนาที่ไปตามโหรเฒ่าในครั้งแรกรีบร้อนมากจึงไม่ได้บอกให้โหรเฒ่าทราบว่า รับสั่งให้เข้าเฝ้าด้วยเรื่องอะไร ทำให้ยายเฒ่ากาไชย ผู้เป็นภริยาเกิดความวิตกกังวล เกรงสามีของนางจะได้รับความเดือดร้อน จึงได้บนบานศาลกล่าวขอให้ผีสางเทวดาช่วยคุ้มครองโหรเฒ่าผู้เป็นสามีด้วย ดังที่ว่า
.....ยายเฒ่าคิดไว้ แกจึงเข้าไป บ่นผีบ่ช้า
เอ็นดูคนจน ช่วยคุ้มรักษา ผีปู่ผีย่า ผีเหย้าท้าวเรือน
ตากลับมาดี แต่งเครื่องบัตรพลี มีให้พักเตือน
ให้เหล้าเก้าทะนาน หมูบ้านหมูเถื่อน เจ้าเชื้อผีเรือน คุ้มครองป้องกัน
๑.๒.๔. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกรรม เป็นความเชื่อที่ฝังแน่นมาในจิตใจของคนไทยตลอดมา เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อทางด้านผลกรรม ว่า ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว ในเรื่องไกรสิทธิ์ ได้กล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับกรรมไว้หลายตอน แต่จะขอยกตัวอย่างมาแค่บางตอน คือตอนที่พญาอินทรีย์ผัวเมียคาบสองกุมาร (โกสิทร์และนรินทร์) ไป ทำให้นางอินทร์สุริยาเศร้าโศกเสียใจมาก ท้าวโกศานได้ปลอบนางอินทร์สุริยาให้รู้จักหักห้ามใจ โดยการยกเอาเรื่อง “กรรม” เป็นข้ออ้าง ดังนี้
นางนาถลำยอง เกลือกกลิ้งในห้อง แทบม้วยอาสัญ
กรรมแล้วน้องเอ๋ย เวรามาทัน แม่อย่าโศกศัลย์ เลยอินทร์สุริยา
..... .....
นางอินทร์สุริยา ได้ฟังผัวว่า นางมาค่อยคลาย
คิดทำบุญส่ง แก่ลูกโฉมฉาย ผัวเมียสบาย เหมือนแต่ก่อนมา
อยู่เย็นเป็นสุข คอยคลายหายทุกข์ สุขเกษมเปรมปราง
ทำบุญตักบาตร ไม่ขาดเวลา ...............
๑.๓. ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี
๑.๓.๑. พิธีขึ้นเบญจารดน้ำ เบญจา หรือบินจา ที่ปรากฏในเรื่องไกรสิทธิ์ จะหมายถึง ชั้นที่นั่งทำเป็นเรือนยอด ใช้สำหรับพิธีรดน้ำพื่อรับขวัญโกสินทร์กับนรินทร์ โดยในเรื่องนรินทร์ทำการแผลงศรให้บัเกิด “บินจาเงินบินจาทอง” ดังว่า
บัดนั้นนรินทร์ สมเด็จโกสินทร์ เจ้าจึงแปลงศร
เสียงดังคือฟ้า ศิลป์พระภูธร บินจาเงินนจาทอง บังเกิดขึ้นมา
ล้วนทองแกมแด้ว ประเสริฐเลิศแล้ว ทุกชั้นบินจา
เครื่องประดับสุกใส ดูพรายแพรวตา พูนเกิดขึ้นมา ด้วยบุญภูมี
๑.๓.๒. ประเพณีการรับขวัญ คนตั้งแต่เกิดมาเชื่อว่าจะมีขวัญมาอยู่ประจำชีวิต และถ้าหากขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็จะออกจากร่างกายเสีย เรียกกันว่า ขวัญหนี ขวัญหาย เป็นต้น ในเรื่องไกรสิทธิ์ กล่าวถึงพิธีสมโภชรับขวัญตั้งแต่เริ่มเตรียมงานจนเสร็จพิธี สรุปได้ว่า
ตอนเตรียมงาน ท้าวโกศานมีรับสั่งให้ปลูกโรงพิธี และแจ้งข่าวไปยังหัวเมืองต่างๆ ดังว่า
ท่าท้าวมีโองการมา สั่งนายเสนา
เร็วหราไปปลูกโรงพลัน
สามสิบเก้าห้องโรงขวัญ เร่งเกณฑ์กันพลัน
ให้ทันตามโองการไป......
ตอนพิธีรับขวัญ เริ่มจากท้าวโกศานจุดเทียนชัย ถือเทียนด้วยมืทั้งสอง เวียนเทียนจากซ้ายไปขวา ๓ รอบ ใช้มือโบกควันเทียนไปทางผู้เข้าพิธี คือโกสินทร์กับนรินทร์ แล้วส่งเทียนชัยต่อไปยังผู้ที่นั่งถัดไป และกระทำเช่นเดียวกัน มื่อเวียนเทียนชัยจนครบทุกคนแล้วก็พากันโห่ร้อง ๓ ครั้ง เพื่อเอาฤกษ์ชัย ดังว่า
ทั้งท้าวทั้งสองรา ให้ทำขวัญลูกสายใจ ครั้นแล้วมีทันช้า
ให้ป่าวทั้งเวียงชัย นั่งล้อมลูกท้าวไท ทำขวัญเจ้าสองโพงา เวียงแว่นแต่ซ้ายมาหาขวา ตั้งโอโห่สามลา โบกควันให้ต้องไท .............
๑.๓.๓. การเล่นนมยานตีเก้ง หรือนมยานตีเก่ง มีมาตั้งแต่ปลายสมัยศรีวิชัย และนิยมเล่นกันเฉพาะชาวภาคใต้สมัยโบราณ เพราะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการละเล่นประเภทนี้ในภาคอื่น การเล่นตีนมยานตีเก้ง เข้าใจว่าเล่นกันเพื่อความสนุกสนานมากกว่าการเอาจริงเอาจัง ในเรื่องไกรสิทธิ์ ได้กล่าวถึงการเล่นนมยานตีเก้ง ว่า
นมยานให้ตีเก้ง เห็นวังเวงทั้งซ้ายขวา ตุ้งติ้งวิ่งเข้ามา
ออกตั้งท่าตีกันพลัน นางหนึ่งหน้าแช่มช้อย ยานมิน้อยล่ำสากัน นางหนึ่งหน้าคมสัน แลระเมงทั้งสองรา เปรียบได้ออกตีพลัน นมยานนั้นกวัดไปมา
นางฟ้าโห่ฉาฉา เพิ่งมาเห็นคนนมยาน
๑.๓.๔. การเล่นช่วงชิง (ตีคลี) เป็นการเล่นพื้นเมือง นิยมเล่นในช่วงประเพณีสงกรานต์ มีผู้เล่นหลายคน บางท้องถิ่นเรียก เล่นตีคลี การเล่นช่วงชิงที่กล่าวถึงในเรื่องไกรสิทธิ์ เป็นการเล่นช่วงชิงดอกไม้ เล่นเพื่อความสนุกสนาน ตอนในขณะที่นางไกรสรสุริยาลงเล่นน้ำพร้อมด้วยพี่เลี้ยงซึ่งเป็นบริวาร ดังว่า
.....เล่นน้ำอยู่นาน นางน้องฉายา เล่นน้ำอัตรา
ด้วยพี่เลี้ยงพลัน เก็บดอกไม้มา ทุ่มลงชิงกัน แม่ไกรสรนั้น
ฉวยได้ทุกครา
มาเล่นอยู่นาน เป็นสุขสำราญ ลืมท้าวทั้งสอง
ช่วงชิงดอกไม้ ได้น้องทุกครา พี่เลี้ยงแล่นมา เจ้าทุ่มลงพลัน
๑.๓.๕. การไถ่กลบนักโทษ เป็นวิธีการประหารนักโทษ ซึ่งนิยมใช้ในสมัยโบราณ ในเรื่องไกรสิทธิ์ ตอนที่นรินทร์ให้โหรทั้ง ๔ ทำนายฝัน ได้กล่าวถึงการไถ่กลบนักโทษว่า
โหรเฒ่ากล่าวเป็นสัตย์ แม่นแม้ทัดแล้วโฉมตรู
ลูกหลานท่านมาสู่ แม่นแท้นักประจักษ์ใจ
แม่นยำเหมือนคำทาย ขอถวายเศียรทั้งสี่
ประเทียบวัวตัวโต ไถประจานผ่านทั้งนา
๑.๔. ด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่
๑.๔.๑. บรรยายหรือพรรณนาถึงธรรมชาติ ทำให้ทราบถึงสภาพภูมิศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ในเรื่องไกรสิทธิ์มีบทชมธรรมชาติ ชมโฉมตัวละคร ชมบ้านเมือง หรือบทพรรณคร่ำครวญ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องไกรสิทธิ์ตอนท้าวโกสินทร์ นรินทร์ นางวรดี และนางไกรสรสุริยาลงเล่นน้ำในสระ มีบทชมปลา ว่า
นวนนองถามไป โนปลาอันได ไหญยาวนักหนา
พันนำซีนพรุย เหมือนฝนตกมา แทบเทียมพูผา เข้าเรียกซิ่วได…..
๑.๔.๒. บอกถึงประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ทะเลเป็นอย่างดี ในเรื่องไกรสิทธิ์ได้กล่าวถึงปลาหายชนิดซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น ปลาตะเพียนทะเล ในเรื่องไกรสิทธิ์ กล่าวว่า
วันนีจอมขวันจะมันไหลย พ่ายาเสียไจย
เป็นเหยีวมัดฉาปลาเพียน ทั้งคู่ใหววงทองเวียง.....
๑.๔.๓. กล่าวถึงบ้านเมืองและราชสำนัก การปกครองหัวเมืองหรือชนบทในขณะนั้น ในเรื่องไกรสิทธิ์ ตอนที่ท้าวโกสินทร์กับนรินทร์เดินทางกลับเมืองมุขพิมาน ว่า
.....บางขายเสิวผ้า แก้วแหวนมีค้า เฉียนเงรภารทอง
แตภอกสาว๒ นงรายขายของ นงปักห่มกรอง รองเบาะขายของ.....
๑.๔.๔. บ่งบอกวิถีชีวิตของการแย่งชิงสู้รบ ให้ได้มาซึ่งบ้านเมืองของการปกครองของสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มนุษย์ต่อสู้กับยักษ์ การต่อสู้ด้วยชั้นเชิงและไหวพริบ ในเรื่องไกรสิทธิ์ได้กล่าวไว้หายตอน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่รบระหว่างไรสิทธิ์กับยักษ์ ว่า
ประหมารห้ารอย ห้าต๊กยาห้วย เลือดญ้วยดาบดา
มิวเดียวตืนเดียว กอดเกียวกันมา ลีดลีนปลินตา เข้ามามีถอย.....
๑.๔.๕. ความรักของมารดาที่มีต่อบุตร ในเรื่องไกรสิทธิ์ ได้มีบทการสูญเสียลูก การพลัดพรากจากกัน การร้องไห้ เซื่องซึม สลบไป ตัวในตอนนางไกรสรสุริยาคร่ำครวญถึงลูกซึ่งถูกท้าวโกสินทร์สั่งฆ่า โดยให้เพชฌฆาตนำใส่โกศทองลอยน้ำไป ว่า
.....พระโลกคะบาน ถึงสาบันชี ไครขาไครดี
ครังนีลูกขามาตาย ดวยพระพีชาย ทารใดเมตาปราหนี.....

คุณค่าของเรื่องไกรสิทธิ์ วรรณกรรมประโลมโลก
วรรณกรรมประเภทนิทานประโลมโลกมีจุดมุ่งหมายโดยตรงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ส่วนของเรื่องราวจะเกิดจากประสบการณ์ตรงของผู้แต่ง จึงทำให้ก่อให้เกิดคุณค่าทางด้านคติธรรม สังคม จริยธรรม วัฒนธรรม และแนวคิดกับผู้อ่านด้วย

แนวคิดที่ได้รับจากเรื่องไกรสิทธิ์ วรรณกรรมประโลมโลก
๑. เรื่องกรรม ในเรื่องไกรสิทธิ์ได้กล่าวถึงเรื่องกรรมไว้มากมาย เช่น ตอนที่พญาอินทรีย์คาบเอา ๒ กุมารไป และยักษ์ลัดพาตัวนางไกรสรสุริยาไป ท้าวโกศานก็สรุปเพื่อปลอบใจนงอินทร์สุราว่า “เป็นเองของกรรม” นอกจากเรื่องนี้ยังกล่าวถึงการทำบุญตักบาตร การอุทิศส่วนบุญกุศล กรวดน้ำไปให้ยังผู้ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย
๒. เรื่องไม่จองเวรต่อกัน ในเรื่องนี้สอนได้ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ก็จะจบลงด้วยดีก็เพะราสัจจะธรรมนี้
๓. เรื่องธรรมมะย่อมชนะอธรรม โดยในเรื่องก็กำหนดให้มนุษย์เป็นฝ่ายธรรมะ และยักษ์เป็นฝ่ายอธรรม มีการทำสงครามกัน มนุษย์ชนะยักษ์ ก็คือธรรมะย่อมชนะอธรรม

ไม่มีความคิดเห็น: