วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แข่งเรือยาว

แข่งเรือยาว


--------------------------------------------------------------------------------


พอถึงวันดีที่จะออกพรรษา
จัดแจงนาวาพร้อมเพรียงเรียงราย
ทั้งหญิงทั้งชายจัดไว้พร้อมเสร็จ
ถึงวันเสด็จเสร็จแล้วจึงไป
ฯลฯ
ชวนกันลงลากฉุดชากลงไป
ไม่เช้าเท่าใดถึงมาแหลมโพธิ์
เสียงดังฉาวโฉ่ฆ้องกลองสวรรค์


ว่ากันว่าจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่สืบทอดประเพณีชักพระมาตั้งแต่โบราณ กล่าวคือมีทั้งการชักพระทางบก ซึ่งชักลากรถหรือเลื่อนที่ประดิษฐานบุษบกพระไปตามถนนหนทาง กับการชักพระทางน้ำ ซึ่งชักลากเรือบุษบกพระไปตามแม่น้ำลำคลอง บางทีก็ออกสู่ทะเล โดยเฉพาะทะเลสาบสงขลา การชักพระทางน้ำนี้เองเป็นต้นกำเนิดของการเล่นเพลงเรือของภาคใต้ โดยเฉพาะเพลงเรือแหลมโพธิ์ ของจังหวัดสงขลา ที่เล่นสืบทอดประเพณีกันมานานนับร้อยปี



ประวัติเพลงเรือแหลมโพธิ์ จากหนังสือเพลงเรือแหมโพธิ์ของ สนิท บุญฤทธิ์ เขียนไว้ว่าคือเพลงเรือที่มีศูนย์กลางการเล่นอยู่ที่บริเวณแหลมโพธิ์ ซึ่งเป็นแหลมเล็กๆ ยื่นลงไปในทะเลสาบสงขลา พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ อยู่ทางตอนเหนือของหมู่ที่ 3 บ้านแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเพลงที่พวกฝีพายเรือยาวร้องเล่นในเรือร่วมกับประเพณีชักพระ เพื่อชักลากเรือบุษบกพระไปสู่จุดหมายในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงเรือเช่นเดียวกันกับเพลงเรือที่มีเล่นในภาคกลางของประเทศไทย มีลักษณะเป็นประเพณีราษฎร์ แต่ความน่าสนใจศึกษาเฉพาะกรณีเพลงเรือแหลมโพธิ์อยู่ที่เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงเรือที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่มีที่ใดเหมือน หากว่าเพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพียงเพลงที่เล่นกันในเรือ ว่าโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวแล้ว เพลงเรือแหลมโพธิ์ก็คงจะแตกต่างจากเพลงเรือภาคกลางดังกล่าวเพียงพื้นที่เล่นและภาษาในเพลงซึ่งเป็นภาษาถิ่นเท่านั้น แต่เพลงเรือแหลมโพธิ์นอกจากเป็นเพลงเล่นในเรือแล้ว ในส่วนอื่นๆ จะไม่เหมือนกับเพลงเรือในภาคกลางเลย

เพลงเรือแหลมโพธิ์ จึงเป็นเพลงอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเพลงเรือนั้นมีเพียงรูปแบบเดียว คือเพลงเรือของภาคกลาง โดยเฉพาะแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทองเท่านั้น

เพลงเรือแหลมโพธิ์นี้เรียกชื่อตามสถานที่ที่เป็นจุดนัดหมายที่เรือเพลงชักพระมารวมกัน คือที่แหลมโพธิ์แล้วขึ้นเล่นเพลงเรือต่อกันบนบริเวณแหลมโพธิ์ด้วย

จากการศึกษาเกี่ยวกับชื่อเพลงเรือ แม้พื้นที่ในเขตอำเภอหาดใหญ่เพียงเขตเดียวก็เรียกชื่อต่างๆกันออกไป เช่นตำบลแม่ทอมจะเรียก "เพลงเรือ" ตำบลคูเต่าเรียก "เพลงยาว" บ้าง "เพลงเรือยาว" บ้าง ตำบลบางกล่ำ บ้านหนองม่วงนั้นเรียกว่า "เพลงยาว" และเรียกเพลงเรือสั้นๆ ขนาด 2-3 กลอนจบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงของพวกขี้เมาว่า "เพลงเรือบก" พระมหาเจริญ เตชะปัญโญ แห่งที่พักสงฆ์บ้านแหลมโพธิ์กล่าวว่า "มีคำเรียกเพลงเรืออีกคำหนึ่งคือคำว่า เพลงร้องเรือ แต่ในจำนวนทั้งหมด คำว่าเพลงยาวเป็นคำที่เรียกเก่าแก่ที่สุด ในเพลง "ชมนมพระ" ของนายพัน โสภิกุล ได้กล่าวถึงชื่อนี้ไว้กลอนหนึ่งว่า "บ้างร้องเพลงยาวรำเพลงต่างต่าง" คำว่า "เพลงยาวนี้" ได้รับการยืนยันจากผู้สูงอายุในพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นคำตัดมาจากคำว่า "เพลงเรือยาว" เพราะแต่เดิมเรือที่ใช้ชักพระและเล่นเพลงนั้นเป็นเรือยาวแทบทั้งนั้น ด้วยว่า "เรือยาวเป็นเรือสำหรับผู้ชาย ส่วนเรือสำหรับพวกผู้หญิงนั้นเรียกเรือเพรียว" เรือเหล่านี้มักเป็นของวัด จะมีกันวัดละหลายๆลำ อย่างวัดอู่ตะเภา วัดคูเต่ามีมากถึงวัดละ 7-8 ลำ เพิ่งมาตอนหลังเมื่อมีการตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้านมากขึ้น ความจำเป็นในการใช้เรือน้อยลง เรือเหล่านั้นก็ถูกขายไปเป็นอันมาก แต่เป็นที่น่ายินดีที่มีการจัดสร้างเรือยาวขึ้นใหม่ที่วัดอู่ตะเภา เพื่อใช้ในพิธีชักพระ

เรือพระทางน้ำนั้นก็ได้รับการประดับตกแต่งทั้งตัวเรือและนมพระ (พนมพระหรือมณฑปพระ) เช่นเดียวกับการชักพระทางบก บางทีอาจจะวิจิตรพิสดารกว่าเรือพระทางบกเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เรือพระ น้ำในสมัยโบราณบางลำใช้เรือยาวผูกขนานต่อติดกันถึง 3 ลำ เรือพระยิ่งลำใหญ่เท่าใดก็ยิ่งต้องอาศัยแรงชักลากจากฝีพายเรือชักลากมากลำขึ้นเท่านั้น ด้วยแรงศรัทธาและความเชื่อที่ว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" กับความบันดาลใจในความวิจิตรงดงามด้วยศิลปะพื้นบ้านที่แข่งสีสันตัดกันลานตาของเรือพระ กับสีสันของเสื้อผ้าอาภรณ์และหน้าตาของสตรีเพศทั้งที่ไม่อาจไปร่วมในการชักพระ เพียงแค่มายืนส่งสลอนอยู่บนสองฝั่งคลองกับสตรีเพศที่ร่วมลำไปด้วยในกระบวนชักพระนั้น ทำให้คนพื้นบ้านภาคใต้ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผู้ที่มีอารมณ์ทางกาพย์กลอนสูงอยู่แล้วได้เกิดปฏิภาณเป็นถ้อยคำร้อยเรียงดังๆ ออกมาคนหนึ่งแล้วคนอื่นๆ ในกลุ่มก็มีอารมณ์ร่วมรับตามต่อๆกัน เมื่อเห็นว่าการร้องรับกันแบบนี้สนุกและทำให้เกิดพลังความฮึกเหิม เป็นสื่อร่วม กำหนดให้ลงฝีพายพร้อมๆกัน สามารถบรรลุถึงจุดหมายของกิจกรรมชักพระร่วมกันได้ ก็นิยมว่าเป็นสิ่งดี เป็นวัตกรรมแห่งสมัยที่ควรจดจำไว้ปฏิบัติอีกในคราวต่อๆไป จนกระทั่งพัฒนาเป็นเพลงเรือแหลมโพธิ์ในที่สุด


ผมสืบค้นเรื่องราวของเพลงเรืออยู่บ้าง ดังนั้นเมื่อมีงานบุญหลังออกพรรษา ผมจึงตั้งใจว่าจะไปฟังเพลงเรือที่แหลมโพธิ์ให้ได้ พอๆกับความตั้งใจที่จะไปดูการแข่งเรือยาวประเพณีที่วัดอู่ตะเภา แต่ช่วงเช้าก็ติดธุระด่วนจนได้

เรื่องประเพณีแข่งเรือยาวนั้นพอได้ยินได้รู้อยู่บ้าง ด้วยเหตุที่ว่าบางปีก็มีการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 พอได้รื้อฟื้นบรรยากาศเก่าๆในอดีต และเห็นวิถีของคนริมคลองที่ยังสัมพันธ์แนบแน่นกับสายน้ำ แต่พอมาเป็นเพลงเรือนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก เคยได้ยินแม่เพลงมาร้องเล่นบ้างก็ไม่กี่ครั้ง แต่ที่เร้าความสนใจผมมากขึ้นในช่วงหลังๆเห็นจะเป็นแนวคิดในการทำงานที่เราเห็นช่องทางว่า วัฒนธรรมก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้คลองอู่ตะเภาหยั่งรากลึกไปถึงหัวใจคนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ

ระยะหลังได้ข่าวมาว่ามีการอนุรักษ์เพลงเรือ ครูหลายคนพยายามค้นหาเพลงเรือเก่าๆนำมาสอนเด็กให้หัดร้อง เครือข่ายของเราเองก็มีความพยายามฝึกหัด เราฝันไปไกลถึงขนาดว่าตอนนี้เรามีหลักสูตรท้องถิ่นวิชารักษ์คลองอู่ตะเภา สอนเด็กๆในเขตพื้นที่การศึกษาเขต 2 ของจังหวัดสงขลา เด็กๆทั้ง 211 โรงเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องคลองอู่ตะเภา โดยการบุกเบิกของครูโรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์แล้ว อนาคตเพลงเรือ มโนห์รา หนังตะลุง สื่อพื้นบ้านเหล่านี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราสามารถสื่อสารเนื้อหาของการอนุรักษ์คลองอู่ตะเภาลงไป

บ่ายของวันออกพรรษาปลายปีซึ่งมีงานบุญ "ชักพระ"1 พาเรามุ่งหน้าฝ่าสายฝนไปยังแหลมโพธิ์ ผมนึกถึงเสียงกลอง เสียงเรือพระในอดีต ที่วัดเก่าบ้านเกิดของผม เราลากพระกันทางบก เรือพระที่มีธงทิวประดับประดาหลากสีสันผุดพริ้วขึ้นในห้วงนึก

ท้องถนนลูกรังสีขาวซึ่งทอดยาวเลียบขนานไปกับกำแพงวัดอู่ตะเภาวันนั้น กำลังเปียกชื้นไปด้วยสายฝน น้ำฟ้าโปรยเม็ดลงมาตั้งแต่เช้า ท้องฟ้าในมุมที่แหงนมองขึ้นไปมืดครึ้มไปด้วยสีเทาของเมฆฝนปกคลุมไปทั่ว แต่ก็ยังเว้นช่วงให้มีแดดอ่อนๆได้อาบสะท้อนพื้นผิวน้ำ ดูเหมือนว่าฟ้าฝนไม่เป็นใจนักสำหรับงานบุญออกพรรษาปีนี้ แต่ผู้คนก็ไม่ระย่อ ยังคงออกมาร่วมงานประเพณีอย่างคึกคัก

ไม่เว้นแม้คนต่างถิ่น ซึ่งเป็นผู้คนอีกนับร้อยชีวิตที่เดินทางมาเยือนด้วยจุดหมายที่ไม่แตกต่างกัน ผมเองเพิ่งหันหัวรถเลี้ยวกลับมาจากแหลมโพธิ์ ซึ่งขณะนั้นงานพิธีต่างๆสิ้นสุดไปแล้ว คงเหลือแต่งานรื่นเริง แล้วก็จำหน่ายสินค้าของบรรดาพ่อค้าที่มาเปิดร้าน แล้วก็มี "มวยจาก"2 กำลังชกกันอย่างสนุกสนาน

น่าเสียดายที่เรามาไม่ทันได้ยินเพลงเรือ ซึ่งแม่เพลงหลายๆตำบลได้วาดลวดลายประชันฝีปากกันตั้งแต่เช้า ไม่ทันได้เห็นแฟนซีเพลงเรือซึ่งไม่เหมือนใคร แต่ไม่เป็นไร ยังมีการแข่งเรือยาวประจำปี...

เสียงตะโกนเชียร์เรือยาวดังข้ามหมู่ไม้ที่ขึ้นรถครึ้มเบื้องหน้า ฉุดให้ฝีเท้าเราต้องรีบเร่ง ใจผมเต้นแรงขึ้นเมื่อเดินมาถึงทางแยก ซึ่งตัดกับถนนริมคลองอู่ตะเภา ณ ห้วงเวลานี้คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนในอาภรณ์หลากสี ราวกับหน้าหนาวที่ดอกไม้กำลังแย้มกลีบงามเบ่งบานอวดสีสันตามฤดูกาล


มุดแทรกคลื่นผู้คนที่ยึดพื้นที่ริมคลองไว้อย่างแน่นหนา ริ้วธงผ้าหลากสีแขวนจากฝั่งหาดใหญ่ไปถึงฝั่งบางกล่ำ ลากตัดเป็นเส้นโค้งไขว้ไปมา ริมตลิ่งประดับไปด้วยป้ายโฆษณา ถนนกว้างๆแคบไปถนัดใจ เสียงกลองโพนตีกระชั้นขึ้นอีก โฆษกสนามพูดแทรกขึ้นในบางช่วง ผมผ่านเต้นปะรำพิธี ชะโงกหน้าไปยังริมคลอง ผมเห็น"เรือพระ" ลอยลำอยู่ริมตลิ่ง พร้อมกับเรือยาวที่จะใช้แข่งขัน ลูกเรือซึ่งเป็นคนหนุ่มในหมู่บ้านชะเง้อไปยังเรือแข่งที่กำลังซ้อมฝีพายอยู่อีกฟาก

ผิวน้ำคลองอู่ตะเภามีสีออกน้ำตาลแกมเขียว ยามนี้แผ่กระเพื่อมเป็นริ้วคลื่นด้วยแรงกระแทกของท้องเรืออันเกิดจากแรงจ้ำของฝีพายอีกที น้ำใหม่แห่งฤดูกาลเพิ่งลงมาเติมเต็มจากฟากฟ้า จิตใจผู้คนพากันแช่มชื่น

สายน้ำได้เชื่อมโยงคนทั้งสองฟากฝั่งให้ไปมาหาสู่กัน

ทั้งสองฟากฝั่งเต็มไปด้วยผู้คน ไม่สนใจแม้ว่าจะมีสายฝนโปรยเม็ดลงมาหนาตา ร่มคันเล็กคันน้อยบานสะพรั่งอวดสีสันกับสีเสื้อทั้งหญิงชาย คนเฒ่า เด็ก ไม่เว้นแม้แต่พระภิกษุ ที่ออกมายืนกางร่มดูการแข่งเรือ

เรือพายเกือบ 30 ลำ มาจอดตรงริมตลิ่ง รอจนพิธีเปิดสิ้นสุดลงไปแล้ว ขบวนเรือจึงแยกย้ายกันไปยังจุดออกสตาร์ท

ไม่ช้าเสียงปืนนัดแรกก็ดังขึ้นเป็นสัญญาณการแข่งขัน

เสียงตะโกนเชียร์เรือฝั่งของตัวเองดังขึ้นตลอดระยะทาง 100 เมตรของการแข่งขัน ทำให้คลองมันมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง.


--------------------------------------------------------------------------------

เชิงอรรถ

1 : แต่ละปี ทางวัดและชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงจะช่วยกันจัดเตรียม เรือ รถ ประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐ์ฐานบนบุษบก (คืออาคารทรงมณฑปขนาดเล็กยอดทรงปราสาทรูปเจดีย์ย่อมุมสิบสอง จอมแหผายออก ใช้เป็นประดิษฐานพระพุทธรูปในอุโปสถ หรือที่เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า "พนมพระ" สำหรับใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแล้วประดับประดาด้วยธงสามเหลี่ยมด้านละ 3 คัน รอบนอกกั้นฝ้าฝืนยาวประมาณ 2-3 เมตร เพื่อให้สวยงาม มีการนิมนต์พระภิกษุขึ้นประจำบุษบกด้วย)

ขณะทีชักพระตัวพญานาค 2 ห้ว ด้านหน้าต้องใช้เชือกขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซตติเมตร ยาวประมาณ 2 เมตรขึ้นไป เพื่อใช้ในการชักพระข้างละเส้น เวลาชักพระจะมีการตีกลองซึ่งตั้งอยู่บนขบวนเป็นการเร่งจังหวะในการลากด้วย การชักพระบนบกหรือทางน้ำจะทำการชักพระไปตามสถานที่ ๆ กำหนดไว้บางแห่งจะมีจุดนัดพบของการชักพระเพื่อให้ประชาชน ได้ทำบุญประเพณีตามสถานที่ชุมนุมพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว

2 : มวยที่ชกกันบนตับจาก(ใบจากตัดลงมาปูรองฟื้น) เลยเรียกว่ามวยจาก




_____________________________________________________________________________

ขอขอบคุณ ข้อมูล : จดหมายข่าวเพื่อคนรักษ์คลองอู่ตะเภา ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๖/๒๕๔๗

1 ความคิดเห็น:

krispew กล่าวว่า...

นิทานชุมพร ทำไมไม่ถามคนชุมพรล่ะค่ะ
งานยุ่ง ยังไงก็ดูแลรักษาสุขภาพด้วยน่ะคับ
.....นึกถึงเสมอ.....