วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ไกรสิทธิ์ วรรณกรรมประโลมโลก

ไกรสิทธิ์





วรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดชุมพร เรื่องไกรสิทธิ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในสมุดข่อยหรือที่ชาวภาคใต้เรียกว่า “หนังสือบุด” ไกรสิทธิ์เป็นวรรณกรรมประโลมโลก ประเภทจักรๆวงศ์ๆ แต่งโดยกวีท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมชาวบ้านที่นิยมอ่าน (ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า สวด) กันเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ให้ความรู้ทางด้านภาษาและวัฒนธรรมแต่ละสมัยที่เกิดวรรณกรรม และจะใช้สวดกันเฉพาะวันมงคลเท่านั้น กล่าวได้ว่า เมื่อมีงานมงคลก็มีการเตรียมงานก่อนถึงวันงานที่เรียกกันว่า “วันสุกดิบ” ซึ่งสิ่งสำคัญในวันสุกดิบคือ การสร้าง “โรงมัด” เพื่อใช้ประกอบอาหารสำหรับถวายพระและเลี้ยงแขกที่มาในงาน การตระเตรียมอาหารนั้นจะทำกันตั้งแต่ตอนหัวค่ำเรื่อยไปจนถึงสว่างของวันงาน ผู้ที่มาช่วยงานตอนกลางคืนในวันสุกดิบนั้น นอกจากจะเป็นชาวบ้านที่มาอาสาเป็นแม่ครัวแล้วนั้น ก็จะมีผู้มาช่วยงานในด้านอื่นๆ ที่ต้องตระเตรียมไว้ใช้ในวันงาน และอยู่เป็นเพื่อนบรรดาแม่ครัวทั้งหลาย และเพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินในการทำงานและจะได้ไม่ง่วงนอน จึงมีการเล่านิทานที่สนุกสนานแบบนิทานประโลมโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ที่นิยมฟังกันแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็จะมีบทแทรกคติสอนใจให้ผู้ฟังด้วย โดยใช้ตัวละครเป็นสื่อ เพราะเหตุนี้ทำให้วรรณกรรมประโลมโลกจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมานานในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรมาจนถึงปัจจุบันนี้
วรรณกรรมประเภทนิทานประโลมโลกของภาคใต้นั้น ที่ใช้ “สวด” (ท่องแบบทำนองแบบท่องจำ) โดยทั่วๆ ไป จะบอกจุดมุ่งหมายของเรื่องเอาไว้ว่า เพื่อให้คนอ่านหรือฟังในยามว่าง เรียกอีกอย่างว่า “หนังสือสวด” และจะมีผู้สวด (อ่าน) เพียงผู้เดียว คนอื่นจะเป็นผู้ฟัง ผู้สวดจะต้องมีความชำนาญในการสวด และสวดได้อย่างไพเราะ สนุกสนาน แต่ละหมู่บ้านจะมีอาชีพรับจ้างสวด ค่าจ้างแล้วแต่ตกลงกน แต่ส่วนมากมักจะช่วยเหลือกันและตอบแทนด้วยการเลี้ยงอาหาร หากใครสวดได้ไพเราะก็จะมีคนจ้างแทบทุกคืน เรื่องที่ใช้สวดก็เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ

หนังสือบุดหรือสมุดข่อย
คำว่า “บุด”ในภาษาถิ่นใต้ น่าจะมาจากคำว่า “สมุด” ในภาษาภาคกลาง โดยการตัดเสียงพยางค์หน้าตามลักษณะของการใช้คำในภาษาถิ่นใต้ คือคำว่า “สมุด” เป็น “มุด” แล้วกลายมาเป็น “บุด” ซึ่งหมายถึง สมุดที่ทำด้วยกระดาษข่อยหรือเถาต้นกฤษณา พับไปมาเป็นขั้นๆ กลับไปกลับมาในสมัยโบราณ เอกสารสำคญต่างๆ จะเขียนลงในสมุดข่อย หรือหนังสือบุดแทบเกือบทั้งหมด โดยสมุดข่อยหรือหนังสือบุดจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามชนิดของวัสดุที่ใช้ทำกระดาษ สมุดข่อยเล่มหนึ่งๆ ใช้บันทึกข้อความได้ทั้งสองหน้า เรียกหน้าแรกว่า “หน้าต้น” และเรียกหน้าหลังว่า “หน้าปลาย” ขนาดของสมุดที่ได้รับมาตรฐานมีอยู่หลายขนาด การเขียนบันทึกลงสมุดข่อยนั้น เนื่องจากแต่เดิมทางภาคใต้บันทึกด้วยอักษรขอม และเรื่องที่ใช้บันทึกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา หรือตำรายา อีกทั้งผู้บันทึกส่วนใหญ่จะเป็นพระภิกษุ สมุดข่อยนอกจากจะใช้บันทึกเรื่องราวดังกล่าวแล้ว ยังใช้บันทึกใบประกาศ แจ้งความ และเอกสารสำคัญๆ ของทางราชการอีกด้วย

ประวัติความเป็นมาของเรื่องไกรสิทธิ์
ไกรสิทธิ์ เป็นวรณกรรมจากหนังสือบุด ซึ่งถือว่าเป็นวรรณกรรมประโลมโลกของภาคใต้ จังหวัดชุมพร วรรณกรรมเรื่องไกรสิทธิ์ ฉบับที่นำมาวิเคราะห์ เป็นหนงสือบุดขาว เขียนด้วยหมึกสีดำ ขนาดของหนังสือมีความกว้าง ๑๑.๕ ซ.ม. ยาว ๓๕ ซ.ม. มีทั้งหมด ๔ เล่ม นับเป็น ๕ หัว (๕ ตอน) รวม ๖๗๐ หน้า แต่ละหน้ามี ๖ บรรทัด การเรียกชื่อแต่ละตอนเรียกว่า “มาดหัว” เนื้อเรื่องแต่ละตอนจะสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันไปเรื่อยๆ ตอนท้ายของเรื่องได้เขียนบอก วัน/เดือน/ปี ที่เขียนไว้

เนื้อเรื่องย่อ ไกรสิทธิ์
ณ เมืองมุขพิมานมีท้าวโกศานเป็นผู้ปกครอง มเหสีชื่อนางอินทร์สุริยา บุตรสามคนคือโกสินทร์ นรินทร์ และไกรสรสุริยา โกสินทร์และนรินทร์เป็นฝาแฝดชาย ถูกพลัดพรากจากเมืองไปอาศัยยู่กับฤๅษีตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งเติบโตได้ออกจากอาศรมฤๅษีกลับบ้านเมือง และฤๅษีได้มอบหญิงสาวให้กับโกสินทร์ ชื่อนางวิมาลา ฝ่ายนางไกรสรสุริยาเมื่อเติบโตเกิดโดนยักษ์กุมภัณฑ์ลักพาตัวนำไปเป็นเมีย โกสินทร์และนรินทร์ได้กลับมาถึงบ้านเมืองมุขพิมาน ท้าวโกศานได้ทำพิธีรับขวัญ ต้อนรับ ทำการยกเมืองให้โกสินทร์ครอบครอง ส่วนนางอินทร์สุริยาได้พบเห็นนางวิมาลาทุกวันจึงเกิดคิดถึงนางไกรสรสุริยา ทำให้โกสินทร์และนรินทร์อาสาไปตามหา ระหว่างที่เดินทางทั้งสองได้เจอเมืองร้าง พบกลองใบใหญ่มีเสียงร้องออกมาจากกลอง ฝ่ายนรินทร์จึงใช้อาวุธวิเศษฟันกลอง พบเจอกับหญิงสาว คือนางวรดี นางได้เล่าเรื่องราวของเมือง ว่ามีกบยักษ์มาอาละวาดกินคนจนหมดเมือง ทำให้โกสินทร์และนรินทร์ไปปราบกบยักษ์และทำการชุบชีวิตคนทั้งเมืองขึ้นมา เจ้าเมืองจึงยกเมืองและบุตรสาวให้กับนรินทร์ แต่นรินทร์ขอออกเดินทางไปตามหานางไกรสรสุริยาก่อน ไม่นานทั้งสองจึงเดินทางไปถึงเมืองยักษ์กุมภัณฑ์ เกิดการต่อสู้จนยักษ์กุมภัณฑ์เสียชีวิตและนางไกรสรสุริยากลับบ้านเมือง
ฝ่ายท้าวโกสินทร์กับนางวิมาลาได้มีโอรสชื่อ สินธุมาลา ส่วนนรินทร์กับวรดีมีธิดาชื่อ วรจันทร์ นางไกรสรสุริยาคลอดบุตรที่ได้ตั้งท้องกับยักษ์กุมภัณฑ์ โกสินทร์โกรธมาก และเกรงว่าจะมาแย่งชิงสมบัติ จึงกำจัดกุมารน้อย โดยให้นำพาไปลอยน้ำ ฝ่ายพระอินทร์ทราบเรื่องจึงเกิดความสงสาร โดยให้พระวิษณุแปลงร่างเป็นปลาว่ายน้ำนำไปปล่อยไว้ที่เกาะแก้ว ซึ่งเป็นที่พำนักของพญากระบี่ป่า เมื่อพญากระบี่ป่าพบเข้าจึงไปปรึกษากับพญากุมภีล์แล้วนำไปฝากฤๅษีนาคาเลี้ยงไว้ และได้ชื่อว่า ไกรสิทธิ์ เมื่อไกรสิทธิ์เติบโตได้ทราบเรื่องจากพญากระบี่ป่าจึงตัดสินใจออกตามหามารดา ฤๅษีนาคาและพระอินทร์ได้มอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กับไกรสิทธิ์มากมาย ฤๅษีนาคาได้บอกไกรสิทธิ์ว่าเนื้อคู่ชื่อ รัตนมานี เป็นธิดาเมืองยักษ์ มีอาซึ่งเป็นยักษ์ ๗ ตนคอยดูแล นางรัตนมานีพำนักอยู่ในปราสาทมีกำแพงใหญ่ล้อมรอบ ๗ ชั้น
ฝ่ายไกรสิทธิ์เดินทาง ๗ วัน ๗ คืน ก็มาถึงเมืองอินทปักโข ซึ่งเป็นเมืองของนางรัตนมานี ไกรสิทธิ์ลอบเข้าไปในปราสาทและได้นางรัตนมานีเป็นคู่ครอง ฝ่ายยักษ์ทราบเรื่องเกิดการต่อสู้กับไกรสิทธิ์เป็นเวลานาน จนในที่สุดไกรสิทธิ์ได้รับชัยชนะ ทั้งหมดได้ออกเดินทางต่อจนไปถึงเมืองของนรินทร์กับนางวรดี ขอเข้าเฝ้าและเล่าเรื่องราวของตนให้นรินทร์ฟังว่าตนเป็นหลาน ทำการเดินทางไปพบมารดากับแก้แค้นลุง นรินทร์ได้ขอร้องให้ไกรสิทธิ์ให้อภัย อย่าผูกพยาบาทจองเวรกัน และตนจะเขียนสาส์นถึงท้าวโกสินทร์ ให้ขอโทษไกรสิทธิ์และยกเมืองให้ หลังจากนี้ทั้งหมดได้ออกเดินทางไปยังเมืองมุขพิมาน ท้าวโกสินทร์ได้รับสาส์นเกิดความกลัวว่าไกรสิทธิ์จะมาแย่งสมบัติ จึงให้สินธุมาลาจัดทัพมาสู้รบกับไกรสิทธิ์ ฝ่ายไกรสิทธิ์ไม่ยอมทำสงครามจึงบอกให้สินธุมาลาไปบอกให้โกสินทร์ออกมาสู้รบ ท้าวโกสินทร์กลัวพ่ายแพ้ จึงเขียนสาส์นส่งไปให้นรินทร์ เมื่อนรินทร์ได้รับสาส์นจึงรีบเดินทางมาหย่าศึก และบอกให้โกสินทร์ยอมขอโทษไกรสิทธิ์ มอบเมืองคืนให้ไกรสิทธิ์ และขอให้ไกรสิทธิ์อโหสิกรรมให้ ในที่สุดทุกอย่างก็ลงเอยด้วยดี ไกรสิทธิ์ก็ได้พบกับมารดา และปกครองเมืองอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

แก่นของเรื่องไกรสิทธิ์
เรื่องไกรสิทธิ์ แบ่งแก่นของเรื่องได้ ๒ ประการ คือ แก่นเรื่องใหญ่ และแก่นเรื่องย่อย
๑. แก่นเรื่องใหญ่ เป็นแก่นกลางของเรื่อง คือ ต้องพลัดพรากจากกัน การเดินทางมาหากัน เรื่องจบลงเมื่อตัวละครทั้งหมดได้พบกันอีกครั้ง และเกิดการให้อภัยซึ่งกันและกัน
๒. แก่นเรื่องย่อย เป็นแก่นกลางของพฤติกรรม คือ การต่อสู้กันด้วยอิทธิฤทธิ์

ตัวละครในเรื่องไกรสิทธิ์
ลักษณะของตัวละครในเรื่องไกรสิทธิ์จะเป็นเหมือนมนุษย์ หรือเป็นมนุษย์ แต่ไม่ใช่บุคคลจริงๆ
๑. ไกรสิทธ์ ตัวเอกของเรื่อง เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มากมาย เพราะแม่เป็นคนพ่อเป็นยักษ์ เป็นผู้มีบารมี จะเห็นว่าในเรื่องจะมีเทวดาคุ้มครอง มีครูดี มีบริวารดี เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักให้อภัย อีกทั้งเป็นผู้มีรูปร่าง หน้าตาสง่างามตามแบบพระเอกในวรรณคดีไทย
๒. โกสินทร์ ต้องพลัดพรากจากเมืองตั้งแต่เล็ก แต่ด้วยบารมีจึงได้กลับมา แต่พอได้ครอบครองเมืองเกิดมัวเมาในอำนาจจึงสั่งฆ่าหลาน แต่สุดท้ายกลับใจสำนึกผิดยินยอมขอโทษและมอบบ้านเมืองคืนให้หลาน
๓. นรินทร์ เป็นแฝดโกสินทร์ แต่นิสัยตรงกันข้าม เป็นคนจิตใจโอบอ้อมอารี รักวงศ์ตระกูล และเป็นผู้ปรารถนาสันติ
๔. นางรัตนมานี เหมือนดังนางเอกทั่วไปในวรรณคดี คือสูงด้วยชาติตระกูล และพร้อมด้วยความงาม แต่จะไม่มีบทบาทความสามารถอย่างอื่น เป็นตัวกลางในการดำเนินเรื่อง
๕. ยักษ์ทั้งหลาย รักพี่น้อง มีความห่วงใยของที่ตนรัก

เอกลักษณ์ภูมิปัญญาทางด้านต่างๆ
๑.๑. ด้านการใช้ภาษา และลักษณะคำประพันธ์
๑.๑.๑. วรรณกรรมเรื่องไกรสิทธิ์ ใช้คำประพันธ์แบบเดียวกับวรรณกรรมของภาคใต้โดยทั่วไป คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ (ราบ) คำประพันธ์ที่ใช้มากที่สุด คือ กาพย์สุรางคนางค์ ลักษณะของคำประพันธ์ ค่อนข้างไม่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์มากนัก แต่ก็มุ่งเน้นเนื้อหา และความเข้าใจมากกว่า เนื้อหาสนุกสนานชวนให้ติดตามตลอดทั้งเรื่อง
๑.๑.๒. วรรณกรรมเรื่งไกรสิทธิ์ เป็นวรรณกรรมชาวบ้าน การเขียนบันทึกจะเป็นลักษณะการเล่าเรื่องแบบชาวบ้าน มุ่งเน้นความสนุกสนาน การใช้ภาษามีการใช้ภาษาท้องถิ่นใต้ และภาษาไทยภาคใต้แบบโบราณ (ขอมโบราณ มอญโบราณ อักษรทมิฬ) อีกด้วย
๑.๑.๓. มีการใช้คำบาลีสันสกฤต มีลักษณะเด่นเฉพาะของภาคใต้คือ นำคำบาลี สันสกฤตมาใช้ในรูปแบบคำแผลง โดยไม่คำนึงรูปศัพท์ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ จะมีจุดม่งหมายสำคัญคือเสียงสัมผัสเท่านั้น
๑.๒. ด้านความเชื่อ
๑.๒.๑ ความเชื่อทางด้านฤกษ์ยาม มีมาตั้งแต่สมัยโบราณสืบเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เป็นความเชื่อที่อาศัยการคำนวณทิศทางของดวงดาว โดยเชื่อว่าในเวลาที่จะทำการมงคล หรือจะออกเดินทางจึงมักนิยมดูฤกษ์ยามเสียก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล ให้ประสบโชคชัย ปราศจากภัย การดูฤกษ์เมื่อพิจารณาดูวัน เวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งของเครื่องประกอบการทั้งหลาย โดยถี่ถ้วนว่าไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง ไม่มี อะไรขัดข้อง มีสมบูรณ์ดีทุกประการ อย่างนี้แหละเรียกว่า “ ฤกษ์งามยามดี ” แต่ถ้าเห็นว่ามีอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่างยังไม่พร้อมเรียกว่า “ ฤกษ์ยังไม่งาม ยามยังไม่ดี ” หรือ “ ฤกษ์ไม่ดี ”
ดังเช่นในสมัยโบราณในเรื่องไกรสิทธิ์ตอนประกอบพิธีรับขวัญโกสินทร์และนรินทร์ได้กล่าวถึงความเชื่อด้านฤกษ์ยาม ไว้ว่า
บัดนั้นโหรเฒ่า กราบทูลท้าวสองรา
วันนี้ดีหนักหนา ให้ทำการงานพิชัย
สอบสวนต้นตำรา โหราตั้งเลขชัย
ฤกษ์ปีเมืองเป็นใด ชะตาเมืองขึ้นพารา
สอบสวนกันทั้งสี่ เกณฑ์ธรณีเกศตกดิน
ดีจริงยิ่งหนักหนา สิบห้าชั้นจะมีชัย
ครั้นแล้วสี่โหรเฒ่า กราบทูลท้าวผู้จอมไตร
ยามนี้ดี ท้าวไท ถ้าปลูกกลอยจะเป็นทอง
๑.๒.๒. ความเชื่อเกี่ยวกับความฝันและโชคลาง เป็นความเชื่อเกี่ยวข้องกับการคิดเชิงไสยศาสตร์ ที่ผู้ฝึกฝนเชื่อว่าอนาคตหรือผลลัพธ์ของเหตุการณ์บางอย่าง สามารถถูกดลบันดาลให้เป็นไปได้ด้วยพฤติกรรมที่กำหนด แนวคิดเกี่ยวกับ “โชคดี” และ “โชคร้าย” ก่อให้เกิดความเชื่อโชคลางมากมาย เช่น ความเชื่อที่ว่าถ้าจิ้งจกร้องทักก่อนเดินทางออกจากบ้านจะมีโชคร้าย เป็นต้น
ความเชื่อโชคลางนั้นจะไม่วางอยู่บนฐานของเหตุผล ความเชื่อเกิดจากความกลัว ที่แสดงออกในรูปของความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อในเหตุการณ์เหนือจริง การเชื่อในลางบอกเหตุ และการบอกเหตุล่วงหน้า ความเชื่อโชคลางยังถูกใช้เพื่อหมายถึงระบบความเชื่อพื้นบ้าน ในความหมายที่แตกต่างกับความเชื่ออื่นๆ เกี่ยวกับโลกทางวิญญาณของศาสนา เรื่องไกรสิทธิ์ตอนนางไกรสรสุริยาฝัน ก่อนที่ถูกยักษ์กุมภัณฑ์ลักพาตัวไป ได้กล่าวถึงความฝันซึ่งเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้า ว่า
บัดนั้นพังงา ไกรสรสุริยา ขวัญข้าวจึงฝัน
จักร้ายฤวดี มิรู้สำคัญ พระจันทร์นั้น พาเจ้าจากเมือง
บัดนั้นโหรา จึงหยิบตำรา จับยามเนืองเนือง
ขีดตารางลง ถามวันเดือนปี มารดาบุญเรือง คูณมาด้วยพลัน
ออกเศษหกห้า พลิกสิ้นทั้งนั้น อ่านโฉลกไปพลัน
ได้เมื่อจากเมือง ได้ที่นั่งพระลักษณ์ เมื่อต้องโมกขศักดิ์ ลำบากแค้นเคือง
สอบสวนค้นหา ชะตาบุญเรือง มิได้อยู่เมือง
จักจากที่ไป ดูในตรีดซ้ โหราคูณไป ตั้งเลขค้นหา
ตั้งสามยามลง บอกเขามินาน ดวงของนงคารญ
คนต่างภาษา ให้เกรงจงหนัก ผู้มาจะลัก คนต่างเขตมา
๑.๒.๓. ความเชื่อในเรื่องการบนบานศาลกล่าว แก้บนและผีสางเทวดา คือ การขอร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือในสิ่งที่ตนเองต้องการอยากจะได้ หรืออยากให้เป็นไป ถ้าท่านช่วยให้สำเร็จแล้วจะมาให้สิ่งตอบแทนตามที่เคยพูดไว้ คือ แก้บน มนุษย์เมื่อขาดความเชื่อมั่นตนเอง จึงต้องหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย อยากได้อะไร ก็ไปบนบานศาลกล่าว ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้สมหวัง เมื่อไปบนแล้วได้ตามประสงค์จึงจะไปแก้บน การติดสินบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสางเทวดา ถือเป็นพันธะสัญญาที่ต้องชดใช้ ในเรื่องไกรสิทธิ์เช่นกัน ตอนยายเฒ่ากาไชย บนบานศาลกล่าวได้กล่าวถึงการบนบานศาลกล่าว คือ ตอนที่ท้าวโกศานรับสั่งให้โหรเฒ่ามาทำนายฝันถึง ๒ ครั้ง คือ ตอนนางไกรสรสุริยาฝัน กับตอนนางอินทร์สุริยาฝัน แต่เนื่องจากเป็นรับสั่งที่เร่งด่วน เสนาที่ไปตามโหรเฒ่าในครั้งแรกรีบร้อนมากจึงไม่ได้บอกให้โหรเฒ่าทราบว่า รับสั่งให้เข้าเฝ้าด้วยเรื่องอะไร ทำให้ยายเฒ่ากาไชย ผู้เป็นภริยาเกิดความวิตกกังวล เกรงสามีของนางจะได้รับความเดือดร้อน จึงได้บนบานศาลกล่าวขอให้ผีสางเทวดาช่วยคุ้มครองโหรเฒ่าผู้เป็นสามีด้วย ดังที่ว่า
.....ยายเฒ่าคิดไว้ แกจึงเข้าไป บ่นผีบ่ช้า
เอ็นดูคนจน ช่วยคุ้มรักษา ผีปู่ผีย่า ผีเหย้าท้าวเรือน
ตากลับมาดี แต่งเครื่องบัตรพลี มีให้พักเตือน
ให้เหล้าเก้าทะนาน หมูบ้านหมูเถื่อน เจ้าเชื้อผีเรือน คุ้มครองป้องกัน
๑.๒.๔. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกรรม เป็นความเชื่อที่ฝังแน่นมาในจิตใจของคนไทยตลอดมา เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อทางด้านผลกรรม ว่า ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว ในเรื่องไกรสิทธิ์ ได้กล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับกรรมไว้หลายตอน แต่จะขอยกตัวอย่างมาแค่บางตอน คือตอนที่พญาอินทรีย์ผัวเมียคาบสองกุมาร (โกสิทร์และนรินทร์) ไป ทำให้นางอินทร์สุริยาเศร้าโศกเสียใจมาก ท้าวโกศานได้ปลอบนางอินทร์สุริยาให้รู้จักหักห้ามใจ โดยการยกเอาเรื่อง “กรรม” เป็นข้ออ้าง ดังนี้
นางนาถลำยอง เกลือกกลิ้งในห้อง แทบม้วยอาสัญ
กรรมแล้วน้องเอ๋ย เวรามาทัน แม่อย่าโศกศัลย์ เลยอินทร์สุริยา
..... .....
นางอินทร์สุริยา ได้ฟังผัวว่า นางมาค่อยคลาย
คิดทำบุญส่ง แก่ลูกโฉมฉาย ผัวเมียสบาย เหมือนแต่ก่อนมา
อยู่เย็นเป็นสุข คอยคลายหายทุกข์ สุขเกษมเปรมปราง
ทำบุญตักบาตร ไม่ขาดเวลา ...............
๑.๓. ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี
๑.๓.๑. พิธีขึ้นเบญจารดน้ำ เบญจา หรือบินจา ที่ปรากฏในเรื่องไกรสิทธิ์ จะหมายถึง ชั้นที่นั่งทำเป็นเรือนยอด ใช้สำหรับพิธีรดน้ำพื่อรับขวัญโกสินทร์กับนรินทร์ โดยในเรื่องนรินทร์ทำการแผลงศรให้บัเกิด “บินจาเงินบินจาทอง” ดังว่า
บัดนั้นนรินทร์ สมเด็จโกสินทร์ เจ้าจึงแปลงศร
เสียงดังคือฟ้า ศิลป์พระภูธร บินจาเงินนจาทอง บังเกิดขึ้นมา
ล้วนทองแกมแด้ว ประเสริฐเลิศแล้ว ทุกชั้นบินจา
เครื่องประดับสุกใส ดูพรายแพรวตา พูนเกิดขึ้นมา ด้วยบุญภูมี
๑.๓.๒. ประเพณีการรับขวัญ คนตั้งแต่เกิดมาเชื่อว่าจะมีขวัญมาอยู่ประจำชีวิต และถ้าหากขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็จะออกจากร่างกายเสีย เรียกกันว่า ขวัญหนี ขวัญหาย เป็นต้น ในเรื่องไกรสิทธิ์ กล่าวถึงพิธีสมโภชรับขวัญตั้งแต่เริ่มเตรียมงานจนเสร็จพิธี สรุปได้ว่า
ตอนเตรียมงาน ท้าวโกศานมีรับสั่งให้ปลูกโรงพิธี และแจ้งข่าวไปยังหัวเมืองต่างๆ ดังว่า
ท่าท้าวมีโองการมา สั่งนายเสนา
เร็วหราไปปลูกโรงพลัน
สามสิบเก้าห้องโรงขวัญ เร่งเกณฑ์กันพลัน
ให้ทันตามโองการไป......
ตอนพิธีรับขวัญ เริ่มจากท้าวโกศานจุดเทียนชัย ถือเทียนด้วยมืทั้งสอง เวียนเทียนจากซ้ายไปขวา ๓ รอบ ใช้มือโบกควันเทียนไปทางผู้เข้าพิธี คือโกสินทร์กับนรินทร์ แล้วส่งเทียนชัยต่อไปยังผู้ที่นั่งถัดไป และกระทำเช่นเดียวกัน มื่อเวียนเทียนชัยจนครบทุกคนแล้วก็พากันโห่ร้อง ๓ ครั้ง เพื่อเอาฤกษ์ชัย ดังว่า
ทั้งท้าวทั้งสองรา ให้ทำขวัญลูกสายใจ ครั้นแล้วมีทันช้า
ให้ป่าวทั้งเวียงชัย นั่งล้อมลูกท้าวไท ทำขวัญเจ้าสองโพงา เวียงแว่นแต่ซ้ายมาหาขวา ตั้งโอโห่สามลา โบกควันให้ต้องไท .............
๑.๓.๓. การเล่นนมยานตีเก้ง หรือนมยานตีเก่ง มีมาตั้งแต่ปลายสมัยศรีวิชัย และนิยมเล่นกันเฉพาะชาวภาคใต้สมัยโบราณ เพราะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการละเล่นประเภทนี้ในภาคอื่น การเล่นตีนมยานตีเก้ง เข้าใจว่าเล่นกันเพื่อความสนุกสนานมากกว่าการเอาจริงเอาจัง ในเรื่องไกรสิทธิ์ ได้กล่าวถึงการเล่นนมยานตีเก้ง ว่า
นมยานให้ตีเก้ง เห็นวังเวงทั้งซ้ายขวา ตุ้งติ้งวิ่งเข้ามา
ออกตั้งท่าตีกันพลัน นางหนึ่งหน้าแช่มช้อย ยานมิน้อยล่ำสากัน นางหนึ่งหน้าคมสัน แลระเมงทั้งสองรา เปรียบได้ออกตีพลัน นมยานนั้นกวัดไปมา
นางฟ้าโห่ฉาฉา เพิ่งมาเห็นคนนมยาน
๑.๓.๔. การเล่นช่วงชิง (ตีคลี) เป็นการเล่นพื้นเมือง นิยมเล่นในช่วงประเพณีสงกรานต์ มีผู้เล่นหลายคน บางท้องถิ่นเรียก เล่นตีคลี การเล่นช่วงชิงที่กล่าวถึงในเรื่องไกรสิทธิ์ เป็นการเล่นช่วงชิงดอกไม้ เล่นเพื่อความสนุกสนาน ตอนในขณะที่นางไกรสรสุริยาลงเล่นน้ำพร้อมด้วยพี่เลี้ยงซึ่งเป็นบริวาร ดังว่า
.....เล่นน้ำอยู่นาน นางน้องฉายา เล่นน้ำอัตรา
ด้วยพี่เลี้ยงพลัน เก็บดอกไม้มา ทุ่มลงชิงกัน แม่ไกรสรนั้น
ฉวยได้ทุกครา
มาเล่นอยู่นาน เป็นสุขสำราญ ลืมท้าวทั้งสอง
ช่วงชิงดอกไม้ ได้น้องทุกครา พี่เลี้ยงแล่นมา เจ้าทุ่มลงพลัน
๑.๓.๕. การไถ่กลบนักโทษ เป็นวิธีการประหารนักโทษ ซึ่งนิยมใช้ในสมัยโบราณ ในเรื่องไกรสิทธิ์ ตอนที่นรินทร์ให้โหรทั้ง ๔ ทำนายฝัน ได้กล่าวถึงการไถ่กลบนักโทษว่า
โหรเฒ่ากล่าวเป็นสัตย์ แม่นแม้ทัดแล้วโฉมตรู
ลูกหลานท่านมาสู่ แม่นแท้นักประจักษ์ใจ
แม่นยำเหมือนคำทาย ขอถวายเศียรทั้งสี่
ประเทียบวัวตัวโต ไถประจานผ่านทั้งนา
๑.๔. ด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่
๑.๔.๑. บรรยายหรือพรรณนาถึงธรรมชาติ ทำให้ทราบถึงสภาพภูมิศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ในเรื่องไกรสิทธิ์มีบทชมธรรมชาติ ชมโฉมตัวละคร ชมบ้านเมือง หรือบทพรรณคร่ำครวญ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องไกรสิทธิ์ตอนท้าวโกสินทร์ นรินทร์ นางวรดี และนางไกรสรสุริยาลงเล่นน้ำในสระ มีบทชมปลา ว่า
นวนนองถามไป โนปลาอันได ไหญยาวนักหนา
พันนำซีนพรุย เหมือนฝนตกมา แทบเทียมพูผา เข้าเรียกซิ่วได…..
๑.๔.๒. บอกถึงประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ทะเลเป็นอย่างดี ในเรื่องไกรสิทธิ์ได้กล่าวถึงปลาหายชนิดซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น ปลาตะเพียนทะเล ในเรื่องไกรสิทธิ์ กล่าวว่า
วันนีจอมขวันจะมันไหลย พ่ายาเสียไจย
เป็นเหยีวมัดฉาปลาเพียน ทั้งคู่ใหววงทองเวียง.....
๑.๔.๓. กล่าวถึงบ้านเมืองและราชสำนัก การปกครองหัวเมืองหรือชนบทในขณะนั้น ในเรื่องไกรสิทธิ์ ตอนที่ท้าวโกสินทร์กับนรินทร์เดินทางกลับเมืองมุขพิมาน ว่า
.....บางขายเสิวผ้า แก้วแหวนมีค้า เฉียนเงรภารทอง
แตภอกสาว๒ นงรายขายของ นงปักห่มกรอง รองเบาะขายของ.....
๑.๔.๔. บ่งบอกวิถีชีวิตของการแย่งชิงสู้รบ ให้ได้มาซึ่งบ้านเมืองของการปกครองของสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มนุษย์ต่อสู้กับยักษ์ การต่อสู้ด้วยชั้นเชิงและไหวพริบ ในเรื่องไกรสิทธิ์ได้กล่าวไว้หายตอน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่รบระหว่างไรสิทธิ์กับยักษ์ ว่า
ประหมารห้ารอย ห้าต๊กยาห้วย เลือดญ้วยดาบดา
มิวเดียวตืนเดียว กอดเกียวกันมา ลีดลีนปลินตา เข้ามามีถอย.....
๑.๔.๕. ความรักของมารดาที่มีต่อบุตร ในเรื่องไกรสิทธิ์ ได้มีบทการสูญเสียลูก การพลัดพรากจากกัน การร้องไห้ เซื่องซึม สลบไป ตัวในตอนนางไกรสรสุริยาคร่ำครวญถึงลูกซึ่งถูกท้าวโกสินทร์สั่งฆ่า โดยให้เพชฌฆาตนำใส่โกศทองลอยน้ำไป ว่า
.....พระโลกคะบาน ถึงสาบันชี ไครขาไครดี
ครังนีลูกขามาตาย ดวยพระพีชาย ทารใดเมตาปราหนี.....

คุณค่าของเรื่องไกรสิทธิ์ วรรณกรรมประโลมโลก
วรรณกรรมประเภทนิทานประโลมโลกมีจุดมุ่งหมายโดยตรงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ส่วนของเรื่องราวจะเกิดจากประสบการณ์ตรงของผู้แต่ง จึงทำให้ก่อให้เกิดคุณค่าทางด้านคติธรรม สังคม จริยธรรม วัฒนธรรม และแนวคิดกับผู้อ่านด้วย

แนวคิดที่ได้รับจากเรื่องไกรสิทธิ์ วรรณกรรมประโลมโลก
๑. เรื่องกรรม ในเรื่องไกรสิทธิ์ได้กล่าวถึงเรื่องกรรมไว้มากมาย เช่น ตอนที่พญาอินทรีย์คาบเอา ๒ กุมารไป และยักษ์ลัดพาตัวนางไกรสรสุริยาไป ท้าวโกศานก็สรุปเพื่อปลอบใจนงอินทร์สุราว่า “เป็นเองของกรรม” นอกจากเรื่องนี้ยังกล่าวถึงการทำบุญตักบาตร การอุทิศส่วนบุญกุศล กรวดน้ำไปให้ยังผู้ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย
๒. เรื่องไม่จองเวรต่อกัน ในเรื่องนี้สอนได้ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ก็จะจบลงด้วยดีก็เพะราสัจจะธรรมนี้
๓. เรื่องธรรมมะย่อมชนะอธรรม โดยในเรื่องก็กำหนดให้มนุษย์เป็นฝ่ายธรรมะ และยักษ์เป็นฝ่ายอธรรม มีการทำสงครามกัน มนุษย์ชนะยักษ์ ก็คือธรรมะย่อมชนะอธรรม

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แข่งเรือยาว

แข่งเรือยาว


--------------------------------------------------------------------------------


พอถึงวันดีที่จะออกพรรษา
จัดแจงนาวาพร้อมเพรียงเรียงราย
ทั้งหญิงทั้งชายจัดไว้พร้อมเสร็จ
ถึงวันเสด็จเสร็จแล้วจึงไป
ฯลฯ
ชวนกันลงลากฉุดชากลงไป
ไม่เช้าเท่าใดถึงมาแหลมโพธิ์
เสียงดังฉาวโฉ่ฆ้องกลองสวรรค์


ว่ากันว่าจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่สืบทอดประเพณีชักพระมาตั้งแต่โบราณ กล่าวคือมีทั้งการชักพระทางบก ซึ่งชักลากรถหรือเลื่อนที่ประดิษฐานบุษบกพระไปตามถนนหนทาง กับการชักพระทางน้ำ ซึ่งชักลากเรือบุษบกพระไปตามแม่น้ำลำคลอง บางทีก็ออกสู่ทะเล โดยเฉพาะทะเลสาบสงขลา การชักพระทางน้ำนี้เองเป็นต้นกำเนิดของการเล่นเพลงเรือของภาคใต้ โดยเฉพาะเพลงเรือแหลมโพธิ์ ของจังหวัดสงขลา ที่เล่นสืบทอดประเพณีกันมานานนับร้อยปี



ประวัติเพลงเรือแหลมโพธิ์ จากหนังสือเพลงเรือแหมโพธิ์ของ สนิท บุญฤทธิ์ เขียนไว้ว่าคือเพลงเรือที่มีศูนย์กลางการเล่นอยู่ที่บริเวณแหลมโพธิ์ ซึ่งเป็นแหลมเล็กๆ ยื่นลงไปในทะเลสาบสงขลา พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ อยู่ทางตอนเหนือของหมู่ที่ 3 บ้านแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเพลงที่พวกฝีพายเรือยาวร้องเล่นในเรือร่วมกับประเพณีชักพระ เพื่อชักลากเรือบุษบกพระไปสู่จุดหมายในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงเรือเช่นเดียวกันกับเพลงเรือที่มีเล่นในภาคกลางของประเทศไทย มีลักษณะเป็นประเพณีราษฎร์ แต่ความน่าสนใจศึกษาเฉพาะกรณีเพลงเรือแหลมโพธิ์อยู่ที่เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงเรือที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่มีที่ใดเหมือน หากว่าเพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพียงเพลงที่เล่นกันในเรือ ว่าโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวแล้ว เพลงเรือแหลมโพธิ์ก็คงจะแตกต่างจากเพลงเรือภาคกลางดังกล่าวเพียงพื้นที่เล่นและภาษาในเพลงซึ่งเป็นภาษาถิ่นเท่านั้น แต่เพลงเรือแหลมโพธิ์นอกจากเป็นเพลงเล่นในเรือแล้ว ในส่วนอื่นๆ จะไม่เหมือนกับเพลงเรือในภาคกลางเลย

เพลงเรือแหลมโพธิ์ จึงเป็นเพลงอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเพลงเรือนั้นมีเพียงรูปแบบเดียว คือเพลงเรือของภาคกลาง โดยเฉพาะแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทองเท่านั้น

เพลงเรือแหลมโพธิ์นี้เรียกชื่อตามสถานที่ที่เป็นจุดนัดหมายที่เรือเพลงชักพระมารวมกัน คือที่แหลมโพธิ์แล้วขึ้นเล่นเพลงเรือต่อกันบนบริเวณแหลมโพธิ์ด้วย

จากการศึกษาเกี่ยวกับชื่อเพลงเรือ แม้พื้นที่ในเขตอำเภอหาดใหญ่เพียงเขตเดียวก็เรียกชื่อต่างๆกันออกไป เช่นตำบลแม่ทอมจะเรียก "เพลงเรือ" ตำบลคูเต่าเรียก "เพลงยาว" บ้าง "เพลงเรือยาว" บ้าง ตำบลบางกล่ำ บ้านหนองม่วงนั้นเรียกว่า "เพลงยาว" และเรียกเพลงเรือสั้นๆ ขนาด 2-3 กลอนจบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงของพวกขี้เมาว่า "เพลงเรือบก" พระมหาเจริญ เตชะปัญโญ แห่งที่พักสงฆ์บ้านแหลมโพธิ์กล่าวว่า "มีคำเรียกเพลงเรืออีกคำหนึ่งคือคำว่า เพลงร้องเรือ แต่ในจำนวนทั้งหมด คำว่าเพลงยาวเป็นคำที่เรียกเก่าแก่ที่สุด ในเพลง "ชมนมพระ" ของนายพัน โสภิกุล ได้กล่าวถึงชื่อนี้ไว้กลอนหนึ่งว่า "บ้างร้องเพลงยาวรำเพลงต่างต่าง" คำว่า "เพลงยาวนี้" ได้รับการยืนยันจากผู้สูงอายุในพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นคำตัดมาจากคำว่า "เพลงเรือยาว" เพราะแต่เดิมเรือที่ใช้ชักพระและเล่นเพลงนั้นเป็นเรือยาวแทบทั้งนั้น ด้วยว่า "เรือยาวเป็นเรือสำหรับผู้ชาย ส่วนเรือสำหรับพวกผู้หญิงนั้นเรียกเรือเพรียว" เรือเหล่านี้มักเป็นของวัด จะมีกันวัดละหลายๆลำ อย่างวัดอู่ตะเภา วัดคูเต่ามีมากถึงวัดละ 7-8 ลำ เพิ่งมาตอนหลังเมื่อมีการตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้านมากขึ้น ความจำเป็นในการใช้เรือน้อยลง เรือเหล่านั้นก็ถูกขายไปเป็นอันมาก แต่เป็นที่น่ายินดีที่มีการจัดสร้างเรือยาวขึ้นใหม่ที่วัดอู่ตะเภา เพื่อใช้ในพิธีชักพระ

เรือพระทางน้ำนั้นก็ได้รับการประดับตกแต่งทั้งตัวเรือและนมพระ (พนมพระหรือมณฑปพระ) เช่นเดียวกับการชักพระทางบก บางทีอาจจะวิจิตรพิสดารกว่าเรือพระทางบกเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เรือพระ น้ำในสมัยโบราณบางลำใช้เรือยาวผูกขนานต่อติดกันถึง 3 ลำ เรือพระยิ่งลำใหญ่เท่าใดก็ยิ่งต้องอาศัยแรงชักลากจากฝีพายเรือชักลากมากลำขึ้นเท่านั้น ด้วยแรงศรัทธาและความเชื่อที่ว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" กับความบันดาลใจในความวิจิตรงดงามด้วยศิลปะพื้นบ้านที่แข่งสีสันตัดกันลานตาของเรือพระ กับสีสันของเสื้อผ้าอาภรณ์และหน้าตาของสตรีเพศทั้งที่ไม่อาจไปร่วมในการชักพระ เพียงแค่มายืนส่งสลอนอยู่บนสองฝั่งคลองกับสตรีเพศที่ร่วมลำไปด้วยในกระบวนชักพระนั้น ทำให้คนพื้นบ้านภาคใต้ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผู้ที่มีอารมณ์ทางกาพย์กลอนสูงอยู่แล้วได้เกิดปฏิภาณเป็นถ้อยคำร้อยเรียงดังๆ ออกมาคนหนึ่งแล้วคนอื่นๆ ในกลุ่มก็มีอารมณ์ร่วมรับตามต่อๆกัน เมื่อเห็นว่าการร้องรับกันแบบนี้สนุกและทำให้เกิดพลังความฮึกเหิม เป็นสื่อร่วม กำหนดให้ลงฝีพายพร้อมๆกัน สามารถบรรลุถึงจุดหมายของกิจกรรมชักพระร่วมกันได้ ก็นิยมว่าเป็นสิ่งดี เป็นวัตกรรมแห่งสมัยที่ควรจดจำไว้ปฏิบัติอีกในคราวต่อๆไป จนกระทั่งพัฒนาเป็นเพลงเรือแหลมโพธิ์ในที่สุด


ผมสืบค้นเรื่องราวของเพลงเรืออยู่บ้าง ดังนั้นเมื่อมีงานบุญหลังออกพรรษา ผมจึงตั้งใจว่าจะไปฟังเพลงเรือที่แหลมโพธิ์ให้ได้ พอๆกับความตั้งใจที่จะไปดูการแข่งเรือยาวประเพณีที่วัดอู่ตะเภา แต่ช่วงเช้าก็ติดธุระด่วนจนได้

เรื่องประเพณีแข่งเรือยาวนั้นพอได้ยินได้รู้อยู่บ้าง ด้วยเหตุที่ว่าบางปีก็มีการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 พอได้รื้อฟื้นบรรยากาศเก่าๆในอดีต และเห็นวิถีของคนริมคลองที่ยังสัมพันธ์แนบแน่นกับสายน้ำ แต่พอมาเป็นเพลงเรือนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก เคยได้ยินแม่เพลงมาร้องเล่นบ้างก็ไม่กี่ครั้ง แต่ที่เร้าความสนใจผมมากขึ้นในช่วงหลังๆเห็นจะเป็นแนวคิดในการทำงานที่เราเห็นช่องทางว่า วัฒนธรรมก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้คลองอู่ตะเภาหยั่งรากลึกไปถึงหัวใจคนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ

ระยะหลังได้ข่าวมาว่ามีการอนุรักษ์เพลงเรือ ครูหลายคนพยายามค้นหาเพลงเรือเก่าๆนำมาสอนเด็กให้หัดร้อง เครือข่ายของเราเองก็มีความพยายามฝึกหัด เราฝันไปไกลถึงขนาดว่าตอนนี้เรามีหลักสูตรท้องถิ่นวิชารักษ์คลองอู่ตะเภา สอนเด็กๆในเขตพื้นที่การศึกษาเขต 2 ของจังหวัดสงขลา เด็กๆทั้ง 211 โรงเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องคลองอู่ตะเภา โดยการบุกเบิกของครูโรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์แล้ว อนาคตเพลงเรือ มโนห์รา หนังตะลุง สื่อพื้นบ้านเหล่านี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราสามารถสื่อสารเนื้อหาของการอนุรักษ์คลองอู่ตะเภาลงไป

บ่ายของวันออกพรรษาปลายปีซึ่งมีงานบุญ "ชักพระ"1 พาเรามุ่งหน้าฝ่าสายฝนไปยังแหลมโพธิ์ ผมนึกถึงเสียงกลอง เสียงเรือพระในอดีต ที่วัดเก่าบ้านเกิดของผม เราลากพระกันทางบก เรือพระที่มีธงทิวประดับประดาหลากสีสันผุดพริ้วขึ้นในห้วงนึก

ท้องถนนลูกรังสีขาวซึ่งทอดยาวเลียบขนานไปกับกำแพงวัดอู่ตะเภาวันนั้น กำลังเปียกชื้นไปด้วยสายฝน น้ำฟ้าโปรยเม็ดลงมาตั้งแต่เช้า ท้องฟ้าในมุมที่แหงนมองขึ้นไปมืดครึ้มไปด้วยสีเทาของเมฆฝนปกคลุมไปทั่ว แต่ก็ยังเว้นช่วงให้มีแดดอ่อนๆได้อาบสะท้อนพื้นผิวน้ำ ดูเหมือนว่าฟ้าฝนไม่เป็นใจนักสำหรับงานบุญออกพรรษาปีนี้ แต่ผู้คนก็ไม่ระย่อ ยังคงออกมาร่วมงานประเพณีอย่างคึกคัก

ไม่เว้นแม้คนต่างถิ่น ซึ่งเป็นผู้คนอีกนับร้อยชีวิตที่เดินทางมาเยือนด้วยจุดหมายที่ไม่แตกต่างกัน ผมเองเพิ่งหันหัวรถเลี้ยวกลับมาจากแหลมโพธิ์ ซึ่งขณะนั้นงานพิธีต่างๆสิ้นสุดไปแล้ว คงเหลือแต่งานรื่นเริง แล้วก็จำหน่ายสินค้าของบรรดาพ่อค้าที่มาเปิดร้าน แล้วก็มี "มวยจาก"2 กำลังชกกันอย่างสนุกสนาน

น่าเสียดายที่เรามาไม่ทันได้ยินเพลงเรือ ซึ่งแม่เพลงหลายๆตำบลได้วาดลวดลายประชันฝีปากกันตั้งแต่เช้า ไม่ทันได้เห็นแฟนซีเพลงเรือซึ่งไม่เหมือนใคร แต่ไม่เป็นไร ยังมีการแข่งเรือยาวประจำปี...

เสียงตะโกนเชียร์เรือยาวดังข้ามหมู่ไม้ที่ขึ้นรถครึ้มเบื้องหน้า ฉุดให้ฝีเท้าเราต้องรีบเร่ง ใจผมเต้นแรงขึ้นเมื่อเดินมาถึงทางแยก ซึ่งตัดกับถนนริมคลองอู่ตะเภา ณ ห้วงเวลานี้คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนในอาภรณ์หลากสี ราวกับหน้าหนาวที่ดอกไม้กำลังแย้มกลีบงามเบ่งบานอวดสีสันตามฤดูกาล


มุดแทรกคลื่นผู้คนที่ยึดพื้นที่ริมคลองไว้อย่างแน่นหนา ริ้วธงผ้าหลากสีแขวนจากฝั่งหาดใหญ่ไปถึงฝั่งบางกล่ำ ลากตัดเป็นเส้นโค้งไขว้ไปมา ริมตลิ่งประดับไปด้วยป้ายโฆษณา ถนนกว้างๆแคบไปถนัดใจ เสียงกลองโพนตีกระชั้นขึ้นอีก โฆษกสนามพูดแทรกขึ้นในบางช่วง ผมผ่านเต้นปะรำพิธี ชะโงกหน้าไปยังริมคลอง ผมเห็น"เรือพระ" ลอยลำอยู่ริมตลิ่ง พร้อมกับเรือยาวที่จะใช้แข่งขัน ลูกเรือซึ่งเป็นคนหนุ่มในหมู่บ้านชะเง้อไปยังเรือแข่งที่กำลังซ้อมฝีพายอยู่อีกฟาก

ผิวน้ำคลองอู่ตะเภามีสีออกน้ำตาลแกมเขียว ยามนี้แผ่กระเพื่อมเป็นริ้วคลื่นด้วยแรงกระแทกของท้องเรืออันเกิดจากแรงจ้ำของฝีพายอีกที น้ำใหม่แห่งฤดูกาลเพิ่งลงมาเติมเต็มจากฟากฟ้า จิตใจผู้คนพากันแช่มชื่น

สายน้ำได้เชื่อมโยงคนทั้งสองฟากฝั่งให้ไปมาหาสู่กัน

ทั้งสองฟากฝั่งเต็มไปด้วยผู้คน ไม่สนใจแม้ว่าจะมีสายฝนโปรยเม็ดลงมาหนาตา ร่มคันเล็กคันน้อยบานสะพรั่งอวดสีสันกับสีเสื้อทั้งหญิงชาย คนเฒ่า เด็ก ไม่เว้นแม้แต่พระภิกษุ ที่ออกมายืนกางร่มดูการแข่งเรือ

เรือพายเกือบ 30 ลำ มาจอดตรงริมตลิ่ง รอจนพิธีเปิดสิ้นสุดลงไปแล้ว ขบวนเรือจึงแยกย้ายกันไปยังจุดออกสตาร์ท

ไม่ช้าเสียงปืนนัดแรกก็ดังขึ้นเป็นสัญญาณการแข่งขัน

เสียงตะโกนเชียร์เรือฝั่งของตัวเองดังขึ้นตลอดระยะทาง 100 เมตรของการแข่งขัน ทำให้คลองมันมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง.


--------------------------------------------------------------------------------

เชิงอรรถ

1 : แต่ละปี ทางวัดและชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงจะช่วยกันจัดเตรียม เรือ รถ ประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐ์ฐานบนบุษบก (คืออาคารทรงมณฑปขนาดเล็กยอดทรงปราสาทรูปเจดีย์ย่อมุมสิบสอง จอมแหผายออก ใช้เป็นประดิษฐานพระพุทธรูปในอุโปสถ หรือที่เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า "พนมพระ" สำหรับใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแล้วประดับประดาด้วยธงสามเหลี่ยมด้านละ 3 คัน รอบนอกกั้นฝ้าฝืนยาวประมาณ 2-3 เมตร เพื่อให้สวยงาม มีการนิมนต์พระภิกษุขึ้นประจำบุษบกด้วย)

ขณะทีชักพระตัวพญานาค 2 ห้ว ด้านหน้าต้องใช้เชือกขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซตติเมตร ยาวประมาณ 2 เมตรขึ้นไป เพื่อใช้ในการชักพระข้างละเส้น เวลาชักพระจะมีการตีกลองซึ่งตั้งอยู่บนขบวนเป็นการเร่งจังหวะในการลากด้วย การชักพระบนบกหรือทางน้ำจะทำการชักพระไปตามสถานที่ ๆ กำหนดไว้บางแห่งจะมีจุดนัดพบของการชักพระเพื่อให้ประชาชน ได้ทำบุญประเพณีตามสถานที่ชุมนุมพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว

2 : มวยที่ชกกันบนตับจาก(ใบจากตัดลงมาปูรองฟื้น) เลยเรียกว่ามวยจาก




_____________________________________________________________________________

ขอขอบคุณ ข้อมูล : จดหมายข่าวเพื่อคนรักษ์คลองอู่ตะเภา ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๖/๒๕๔๗

วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551

วิถีแห่ง"โนบิตะ"ชยชนะของคนไม่เอาถ่าน

พยายาม "แบบโนบิตะ" ก็เพียงพอแล้ว

พอรู้ว่าฝันประเภทไหนที่สามารถเป็นจริงได้ที่เหลือก็แค่ลงมือทำมันให้กลายเป็นจริง อย่างไรก็ตามคุณไม่จำเป็นต้องกัดฟันสู้จนเลือดตกยางออก จานี้เาจะมาศึกษากันว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กขี้แย เอื่อยเฉื่อย และโหลยโท่ยอย่างโนบิตะ สามารถทำฝันของเขาให้กายเป็นจริงได้???




พอโนบิตะรองไห้โดราเออม่อนต้องให้ความช่วยเหลือ ???


ผู้อ่านหลายคนคงมีความิดเช่นนี้อู่ในหัว "โนบิตะ วันๆไม่เคยทำอะไร เอาแต่รอความช่วยเหลือจากโดราเอม่อน" แต่หลังจากได้วิเคราะห์ประโยคคำพูดและเนื้อหานี้ พบว่า โนบิตะไดพยายาต่อสู้ เผชิญหน้าตามสไตล์ของเขาเอง แต่เนื่องจากความสามารถที่มีอยู่จำกัด บ่อยครั้งที่ผลลัพธ์จึงไม่ออกมาอย่งที่คาดหมาย

ในยามที่โนบิตะพยายามแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือเมื่อเจอโนบิตะเจอปัญหาประเภทยิ่งแก้ยิ่งวุ่น โดราเอม่อนก็จะคอยพิจารณาสถานการณ์อย่างรอบคอบ และหยิบยื่นของวิเศษให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ดั่งเช่นในตอน "ไขเข้าเจ้าลานน้อย" นิ้โดเรม่อนก็ตอบสนองคำขอความช่วยเหลือจากโนบิะได้อย่างเหมาะสม

"ไขเข้าเจ้าลานน้อย"

ระหว่างพักกลางวัน โนบิตะพยายามเร่งสปิดกินมื้อกลางวันของเขา ด้วยความเร็วสุดแรงเกิด อย่างไรก็ตาม วินาทีที่เขาวางมือจากช้อนลงออดเข้าเรียนภาคบ่ายกับดัง "กริ๊งๆๆๆๆๆๆ"ขึ้นเสียได้ วันนี้โนบิตะต้องแห้วอดเล่นตอนพักกลางวันอีกตามเคย พอเริ่มการเรียนการสอนในตอนบ่ายโนบิตะออกทะเลเมื่อเจอโจทย์เลขที่อาจารย์ตั้งมาให้ จนในที่สุดก็โดนอาจารย์ตำหนิอีกแล้วว่า "เฮ้อ ยังไม่ได้ทำอีกเหรอนี่" หลังเลิกเรียนไจแอนต์กับซุเนโอะมาท้าเขาวิ่งแข่งกลับบ้าน อย่างที่คาดโนบิตะพ่ายแพ้อย่างราบคาบ

กลับมาถึงบ้าน ก็ยังโดนแม่ดักคออีกแล้วว่า "ทำการบ้านให้เสร็จก่อนแล้วค่อยออกไปเล่นข้างนอก" โนบิตะจึงเริ่มลงมือจัดการกับการบ้านของเขา ตอนหันหน้าเข้าหาโต๊ะโนบิตะก็เกิดอาการฟิตขึ้นมา "เอาละ เดี๋ยวจะทำรวดเดียวให้เสร็จเลยคอยดู" ปรากฎว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด พอถูกไจแอนด์และซูเนโอะที่ไปเล่นเบสบอลล้อหนักเข้า "เฮ้! ยังทำไม่เสร็จอีกเหรอ" "การบ้านหมูๆ อย่างนี้เนี๊ยะนะ" "นายนี่มันทึ่มจริงๆ" โนบิตะถึงกับน้ำตาร่วง "ผล่อย!!!" ต้องขอคำปรึกษาจากโดราเอม่อน "ทำไมฉันถึงเกิดมาโง่อย่างนี้"
โดราเอม่อนเห็นสถานการณ์ไม่ดีจึงเอา "ลานสุดฟิต" ออกมาและไขลงบนหัวของโนบิตะ

เท่านั้นเอง มือของโนบิตะก็เริ่มวิ่งเป็นรถจักร การบ้านกองโตก็เสร็จชั่วพริบตา
ครั้นพอวิ่งไปถึงสนามเบสอล ไจแอนด์และซูเนโอะกลับดูถูกเขาอีกว่ "ขืนทีมเรามีไอ้ทึ่มอย่างนาย ประเดี๋ยวก็แพ้อย่างอีหรอบเดิม" ก็จะถึงเทริ์นตีของโนบิตะโดราเอม่อนจึงลงมือไขลานบนหัวจนสุดลาน

ปรากฎว่าไม้แรกของโนบิตะหวดแต่ลมเข้าอย่างจัง โดราเอม่อนจึงแนะนำว่า "ตีแค่เบาๆก็พอ" คราวนี้ลูกเบสบอลจึงหลุนๆไปทางพิชเชอร์ แต่โนบิตะกลับวิ่งได้ครบทั้ง 4 เบสด้วยสปีดสุดพิกัดทำคะแนนให้ทีมได้สำเร็จ

ในที่สุดฟอร์มอันร้อนแรงของโนบิตะก็ช่วยทีมได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น เป็นอะไรที่เกิดขึ้นร้อยทีปีหน วันนั้นโนบิตะสามารถเดินกลับบ้านด้วยความรู้สึกอันปลอดโปร่ง อย่างไรก็ตามลานบนหัวเขายังไม่คลายไม่หมดรอบลง ทันทีที่โนบิตะจรดบั้นท้ายลงบนโต๊ะอาหารทุกสิ่งทุกอย่างก็พลันหาไปราวกับสายลม




รวมเล่มฉบับที่ 11
อย่างที่ท่านผู้อ่านทราบกันดี โนบิตะนั้นมีนิสัยเอื่อยเฉื่อย มาแต่ไหนแต่ไรจึงไม่สามารถทำเรื่องทั่วไปภายในเวลาที่เด็กคนอื่นเขาทำกันได้ ทว่า หากโดราเอม่อนมีนิสัยเอาของวิเศษออกมาช่วยโนบิตะทุกครั้งที่ร้องไห้งอแงแล้ว โดราเอม่อนก็คงเอา "ลานสุดฟิต" ติดลงบนหัวของโนบิตะตั้งแต่แรก

ไม่ว่าโนบิตะจะพยายามตะกรุมตะกรามกินเข้าไปรวดเร็วขนาดไหน ก็ไม่สามาถทานให้หมดภายในเวลาที่จำกัดได้ โจทย์ในห้องที่อาจารย์ตั้งให้ถึงตั้งใจจะแก้ก็แก้ไม่สำเร็จ อยากทำการบ้านให้เสร็จก่อนออกไปเล่นข้างนอกอย่างที่คุณแม่กำชับไว้ แต่ัยังไงการบ้านก็ไม่เสร็จซักที ในที่สุดพอถูกไจแอนด์และซูเนโอะล้อว่าไอ้ทึ่ม และทิ้งเขาไว้ไปเล่นเบสบอลกันแค่สองคน ทั้งๆที่ตั้งใจจะเผชิญหน้าแก้ปัญหาไปทีละจุด แต่โนบิตะกลับถึงน้ำตาร่วงเมื่อต้องมาเจอสถานการณ์เช่นนี้ ณ จุดนี้เองเป็นเวลาที่โดราเอม่อนจะหยิบเครื่องมือวิเศษของเขาออกมาใช้

ปัญหาทุกๆปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือเรื่องงาน เรื่องกีฬาล้วนแต่กำเนิดมาจากนิสัยอันเอื่อยเฉื่อยของโนบิตะทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามหากอัด "แรงม้า" เข้าไปในตัวของโนบิตะเสียหน่อยแล้ว รับรองว่าย่อมไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นโดราเอม่อนจึงเอา "ลานสุดฟิต" ออกมาช่วยโนบิตะที่หัวใจกำลังจะแตกสลาย นี่ก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่า โดราเอม่อนไม่ได้ใจอ่อน เอาของวิเศษออกมาช่วยทุกครั้งจนแขนขาโนบิตะไม่เป็นอันกระดิก

เมื่อนำของวิเศษออกมาใช้ ปัญหาของโนบิตะก็คลี่คลายลงไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้ของวิเศษได้คล่องแคล่วสักเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ไปถึงต้นตอปัญหาต่างๆ ได้ ท้ายที่สุดแล้วความมุ่งมั่น และความอยากลองอยากท้าทาย ที่ช่วยให้ปัญหาต่างๆคลี่คลายลงได้อย่างถาวร

ขอขอบคุณหังสือ "วิถีแห่งโนบิตะ ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน"

โยโดยาม่ ยาสุยุกิ (เขียน)

และ ศณ สุวรรณรัตน์ (แปล)

ถ้าเพื่อนๆ คนใดสนใจในบทความข้างบนนี้แล้วละก็ สามารถหาซื้อหนังสือนี้ได้ ชื่อหนังสือ "วิถีแห่งโนบิตะ ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน" หน้าปกหนังสือจะเป็นรูปข้างบนนะค่ะ